กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนภัยโรคซิฟิลิส ย้ำให้แม่มือใหม่รีบฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็ว เพื่อป้องกันและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เชื้อชนิดนี้ทารกมีโอกาสติดเชื้อจากแม่ได้สูงถึงร้อยละ 60-80 เผยในรอบ 6 ปีมานี้ พบอัตราติดเชื้อโรคนี้พุ่งสูงขึ้นเกือบ 4 เท่าตัวทั้งในผู้ใหญ่และเด็กแรกเกิด โดยผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อจะเริ่มมีตุ่มขนาดเล็กที่บริเวณอวัยวะเพศ ริมฝีปาก ลิ้น ตุ่มจะแตกเป็นแผล แต่ไม่เจ็บ และหายไปเอง ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อคิดว่าไม่เป็นอะไร จึงไม่ได้รับการรักษาและถ่ายทอดเชื้อต่อคู่นอน
วันนี้ (13 สิงหาคม 2564) นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญคือ โรคซิฟิลิส( Syphilis) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเทรโพนีมา พัลลิดัม (Treponema pallidum) เชื้อสามารถถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ทารกได้ผ่านทางรก ซึ่งทารกในครรภ์มีโอกาสได้รับเชื้อจากแม่ที่เป็นโรคนี้สูงถึงร้อยละ 60-80 และร้อยละ 40 ของทารกที่ได้รับเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์หรือทำให้เกิดการแท้งลูกได้
จึงขอให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนที่มีปีละประมาณ 5 แสนคน ให้รีบไปฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่ง ตั้งแต่เมื่อรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์หรือควรฝากก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่อวัยวะสำคัญของทารกในครรภ์จะสร้างครบสมบูรณ์ทั้งหมด โดยจะมีการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิส 2 ครั้งฟรี คือ เมื่อฝากครรภ์ครั้งแรก และระหว่างอายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ หากพบว่าติดเชื้อจะได้รับการรักษาทันที ทั้งหญิงตั้งครรภ์และสามีด้วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมียารักษาให้หายขาดและไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ สำหรับเด็กที่ติดโรคซิฟิลิสจากแม่ เรียกว่าโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด จะมีอาการแตกต่างกัน ในช่วงแรกเกิด-2 ปี จะมีผื่นลอกที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ผิวซีด เหลือง ตับม้ามโต กระดูกผิดปกติ บางรายอาจพบการติดเชื้อในระบบประสาทร่วมด้วย จึงต้องรีบพาเด็กเข้ารับการดูแลรักษาโดยเร็วและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากปล่อยไว้เมื่อเด็กโตขึ้นอาจมีปัญหาหูหนวก จมูกยุบ เพดานปากโหว่ รูปหน้าผิดปกติ เนื่องจากมีความผิดปกติของกระดูก
แพทย์หญิงชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวว่า จากรายงานทางระบาดวิทยา พบว่าอัตราป่วยโรคซิฟิลิสในประเทศไทยในรอบ 6 ปีมานี้ เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว โดยใน กลุ่มประชาชนทั่วไปพบอัตราป่วย ในปี 2557 จาก 4.4 เพิ่มเป็น 16.4 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2563 และพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 15-24 ปี อัตราป่วย 50.4 ต่อประชากรแสนคน ส่วนในกลุ่มเด็กที่ติดเชื้อซิฟิลิสแต่กำเนิด แนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในปี 2557 มีอัตราป่วยจาก 11.8 เพิ่มเป็น 45.5 ต่อจำนวนเด็กเกิดมีชีพแสนคนในปี 2562 ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด
ได้แก่ มารดาอายุน้อยกว่า 25 ปี ร้อยละ 66.5 ไม่มาฝากครรภ์ ร้อยละ 11.3 มาฝากครรภ์ช้า(เกิน 12 สัปดาห์) ร้อยละ 63.8 มาฝากครรภ์ไม่สม่ำเสมอ บางรายเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลเอกชน แต่ไม่ได้รับการรักษาและไม่ได้รับการส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ ดังนั้น หน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับและทุกภาคส่วน ควรช่วยกันส่งเสริมการป้องกัน เช่น ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
โดยเฉพาะเยาวชนกลุ่มเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์และคู่สมรสให้มาฝากครรภ์โดยเร็ว และรับการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสและโรคอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น เอชไอวี โรคไวรัสตับอักเสบบี เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว สร้างระบบส่งต่อบริการ การดูแลรักษาระหว่างสถานพยาบาลภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนและเด็กเกิดใหม่ปลอดภัยไร้โรค และลดการระบาดของโรคซิฟิลิสได้
แพทย์หญิงชีวนันท์ กล่าวต่อไปว่า โรคซิฟิลิสนี้ ยังสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงทางบาดแผลได้เช่นกัน อาการของผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อในระยะแรก จะมีตุ่มขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ลิ้น ริมฝีปาก ต่อมาตุ่มจะแตกเป็นแผล โดยลักษณะของแผลจากโรคซิฟิลิสจะแตกต่างจากแผลทั่วไป คือ ขอบแผลจะแข็ง ดูสะอาด และไม่เจ็บ จะหายไปได้เอง ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อคิดว่าไม่เป็นอะไร จึงไม่เข้ารับการรักษา เชื้อจะเข้าไปอยู่ที่ต่อมน้ำเหลืองและเข้าสู่กระแสเลือด ถ่ายทอดเชื้อสู่คนอื่นได้ เมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย
ทั้งนี้ หากประชาชนมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือมีอาการสงสัยอาจเป็นโรคซิฟิลิส สามารถเข้ารับบริการตรวจรักษาได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และสถาบันการแพทย์บางรัก กรมควบคุมโรค สอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โทร.0 2590 3241 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
Post Views: 56