กรมควบคุมโรค เตือนประชาชน เลี่ยงรับประทานอาหารดิบ หรือ สุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะเมนูที่ทำมาจากปลาน้ำจืดเกล็ดขาว ป้องกันการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งสาเหตุหลักของโรคมะเร็งท่อน้ำดี แนะรับประทานอาหารเมนูปลาที่ปรุงสุกด้วยความร้อน และล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร
วันนี้ (19 เมษายน 2567) นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคพยาธิใบไม้ตับ และโรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ประเทศไทยพบผู้ป่วยสูงในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดการณ์ว่าคนไทยร้อยละ 10 หรือ 6 ล้านคน ตรวจพบพยาธิใบไม้ตับ และจากสถิติ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี คิดเป็น 24.7 ต่อแสนประชากร เกิดขึ้นกับประชากรวัยทำงานที่เป็นหัวหน้าครอบครัว อายุระหว่าง 40-60 ปี ค่าใช้จ่ายในการรักษา ประมาณ 1,960 ล้านต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่มีขนาดปัญหารุนแรง และก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในสังคมเป็นอย่างมาก
โรคพยาธิใบไม้ตับ มีสาเหตุจากการรับประทานปลาน้ำจืดเกล็ดขาว เช่น ปลาตะเพียนทุกชนิด ปลาขาวนา ปลาแก้มช้ำ ปลาสร้อย ปลาซิว ปลากระสูบ โดยนำมาปรุงแบบดิบๆ หรือ สุกๆ ดิบๆ ทำเมนู ก้อยปลา ปลาส้ม ลาบปลาดิบ พล่าปลาดิบ ปลาร้าดิบ ส้มตำปลาร้าดิบ เป็นต้น ซึ่งปลาดังกล่าว
มักมีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับอยู่ เมื่อพยาธิใบไม้ตับสะสมในร่างกายในระยะเวลานาน จะทำให้ท่อน้ำดีเกิดการอักเสบ ผนังท่อน้ำดีหนาขึ้น พัฒนาต่อเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในระยะเวลาต่อมา และมีความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
นายแพทย์วีรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนตระหนักถึงการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ อาหารเมนูปลาน้ำจืดเกล็ดขาวปรุงดิบ หรือ สุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ การใช้ของเปรี้ยว เช่น น้ำมะนาว มะขาม หรือการใช้ของเค็ม เช่น น้ำปลา เกลือ น้ำปลาร้า ปรุงอาหารนั้น ไม่ทำให้อาหารสุกและไม่สามารถฆ่าพยาธิได้ วิธีที่จะทำให้อาหาร “สุก” นั้น ต้องสุกด้วยความร้อน จึงสามารถฆ่าตัวอ่อนพยาธิได้ และควรป้องกันตนเองจากโรคพยาธิใบไม้ตับ ดังนี้ 1) ไม่รับประทานปลาน้ำจืดเกล็ดขาวดิบ หรือ สุกๆ ดิบๆ ให้ปรุงโดยให้ผ่านความร้อนให้สุกก่อน 2) ถ่ายอุจจาระลงในส้วม ไม่ถ่ายลงในแหล่งน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง 3) หากเคยรับประทานปลาดิบ ควรไปตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิตามสถานบริการสาธารณสุข หากมีพยาธิให้รักษาด้วยยาและงดรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ 4) ไม่หัดให้เด็ก หรือชักชวนผู้อื่นรับประทานอาหารดังกล่าว
ดังนั้นหากเริ่มมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องอืด ตับโต อาหารไม่ย่อย จุกเสียดและรู้สึกแน่นท้องที่ใต้ชายโครงขวา มีอาการรู้สึก “ออกร้อน” ที่ผิวหนังหน้าท้องด้านขวาหรือที่หลัง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ที่สำคัญคือเน้นการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ ส่งเสริมให้ประชาชนรับประทานอาหารเมนูปลาดังกล่าวที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ล้างมือ ล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน ถ่ายอุจจาระ ในส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง และตรวจอุจจาระค้นหาไข่พยาธิปีละ 1 ครั้งทุกปี หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
Post Views: 74