พก. จับมือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ อบรมพัฒนาศักยภาพล่ามในกระบวนการยุติธรรม รุ่นที่ 2
วันนี้ (15 มิ.ย. 65) เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมพัชราวดี 1- 2 โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพล่ามในกระบวนการยุติธรรม รุ่นที่ 2 ภาคเหนือ ที่จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 15 – 17 มิถุนายน 2565 โดยมีเป้าหมายเป็นล่ามภาษามือชุมชน จำนวน 15 คน จากพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก นครสวรรค์ พิจิตร และสุโขทัย รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) กำหนดให้คนพิการดำรงชีวิตอยู่ได้โดยอิสระและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทุกด้านของการดำเนินชีวิต พร้อมกับดำเนินมาตรการที่เหมาะสมให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิตามมาตรา 20 (7) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ที่ได้กำหนดให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จัดบริการล่ามภาษามือให้กับคนพิการ ซึ่งดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยบริการล่ามภาษามือ พ.ศ. 2561 ที่ขับเคลื่อนโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ ซึ่ง พก. ดำเนินการจดแจ้งล่ามภาษามือชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 659 คน และในปี 2565 คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดสอบประเมินความรู้และทักษะการเป็นล่ามภาษามือชุมชน เพื่อการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชนของ พก. โดยมุ่งส่งเสริมให้ล่ามภาษามือมีมาตรฐานการปฏิบัติงานให้บริการแก่คนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ในบริการทั้งด้านการแพทย์ การศึกษา กระบวนการยุติธรรม รวมถึงบริการสาธารณะอื่นๆ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงบริการทุกด้าน
ทั้งนี้ พก. จึงได้ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ดำเนิน “โครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพล่ามในกระบวนการยุติธรรม” โดยขอความอนุเคราะห์ใช้หลักสูตรการฝึกอบรมจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีการจัดทำหลักสูตรและคู่มือคำศัพท์ล่ามภาษามือในกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวน ชั้นพิจารณา ชั้นคดีถึงที่สุด ตลอดจนกระบวนการยุติธรรมชั้นอื่นๆ ที่สำคัญ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดฝึกอบรมล่ามในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ล่ามภาษามือชุมชนที่จดแจ้งกับ พก. รวมจำนวน 4 รุ่น รุ่นละ 15 คน รวมทั้งสิ้น 60 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ของล่ามในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นมาตรฐานและเกิดการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนพิการที่ไม่สามารถสื่อภาษาได้ ได้รับการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายและได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมในการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ล่ามภาษามือชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องสิทธิและสวัสดิการคนพิการ โดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรมภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติงานของล่ามจะต้องมีความรู้เบื้องต้นด้านการล่ามในกระบวนการยุติธรรม ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และภาษากฎหมายสำหรับล่าม มีหลักจิตวิทยาในการแก้ไขสถานการณ์ในสภาวะวิกฤตในการปฏิบัติหน้าที่ล่ามภายใต้จรรยาบรรณและมาตรฐานทางวิชาชีพของล่ามภาษามือ โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำสำนักประธานศาลฎีกา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน