สกู๊ปพิเศษ

มาเลเซีย ในวันที่มุมมองเปลี่ยนไป

การไปเยือนมาเลเซียในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จากการนำทีมโดย คุณรชต ลาตีฟี และคุณชดา บูรณะพิมพ์ เพื่อให้ได้เยี่ยมชมธุรกิจเครือข่าย GISB และสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวมุสลิม โดยเครือข่ายมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ  Love&care ณ โกลบอลอิควาน ประเทศมาเลเชีย  ภายใต้การบริหารงานของ ดาโต๊ะ มูฮำมัด อาดำ ที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงแบบครบวงจรเฉกเช่นเดียวกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่เปิดโอกาสให้คณะสื่อมวลชนได้เข้ามาทำความรู้จักและสัมผัสกับโลกของชาวมุสลิมที่น่าสนใจ ตามหลักความรักซึ่งกันและกันในทุกเชื้อชาติศาสนา      ว่าที่จริง… การมาเยือนมาเลเซียก็หลายครั้งหลายครา แต่ต่างมุม …ต่างกาลเวลาและต่างสถานที่กันไป โดยเฉพาะกับมุมของชีวิตในวิถีแบบมุสลิม ที่เราแทบไม่มีโอกาสได้สัมผัสและรับรู้มากนัก แม้แต่ในเมืองไทยก็ตาม และเมื่อนกยักษ์ลงจอดรันเวย์ ที่สนามบินกัวลาลัมเปอร์ ผ่าน immigration เข้าประเทศมา นาฬิกาบอกเวลาปาเข้าไปเที่ยงคืนกว่า แต่บวกเวลาของมาเลเซียเข้าไปอีก 1 ชั่วโมง นั่นหมายความว่าขณะนี้ ตี 1 แล้ว แม้จะดึกมากๆ แต่เมื่อได้พบกับพี่ๆ น้องๆ ชาวมุสลิมหลายคนที่รอต้อนรับทั้งที่เดินทางมาจากภูเก็ตสมทบกับคณะเรา และมุสลิมชาวมาเลเซียโดยแท้ ความประทับใจแรกก็เกิดขึ้น กับใบหน้าเปื้อนยิ้มและการทักทายอย่างเป็นกันเอง แม้ต้องรอคอยผู้มาเยือนอย่างเราเป็นเวลานานนับชั่วโมง โดยเฉพาะดาโต๊ะ มูฮำมัด อาดำ ซึ่งเดินทางมาต้อนรับด้วยตัวเอง ……มิตรภาพเริ่มก่อเกิด ค่ำคืนแรกของเรา เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมห้องหับไว้ที่บ้านพักรับรองของมูลนิธิในมาเลเซีย อาคารสามชั้นแยกชายหญิงคนละอาคาร ข้าวสวยร้อนๆ และไก่ทอดเสริฟให้ผู้มาเยือนในช่วงเกือบตีสอง อาหารมื้อแรกในมาเลเซีย     ………………………………………………………………………………………………………………. รุ่งอรุณวันแรกในมาเลเซีย ….เช้าตรู่ คณะของเราเตรียมตัวออกเดินทางตามทริป โดยไปแวะทานอาหารเช้ากันที่ร้านอาหาร IKHWAN ก่อนจะเดินทางไปร่วมงานการลงนามข้อตกลงจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีขึ้นที่ Restoran Ikhwan Changkat Bukit Bintang Kuala Lumpur มาเลเซีย     การเซ็นต์สัญญาครั้งนี้ประกอบไปด้วย Dato Seri Amir Hamzah  , Dato Muhammad Adam  Directer GISB Thailand Pty Ltd. ประธานมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ ประเทศไทย , Dato Azri Mohd Yunus,Directer GISB Australia , Mr.Mohammad Sarwar Khan เจ้าของที่ดิน , Dato Lokman Hakim Pfordten Abdul Rahim Chief Executive Officer (CEO)GISB Holdings Sdn Bhd                         ในช่วงบ่ายยังพอมีเวลา เรามีโอกาสได้เข้าไปช้อปปิ้งกันเบาๆ ที่ตึกแฝดปิโตรนาส ตึกที่ถูกบันทึกว่าเป็นตึกแฝดที่สูงที่สุดในโลก ในช่วงเวลาระหว่างปี 1998-2004 แต่ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีอาคารอื่น ๆ ขึ้นแข่งความสูงกับตึกแฝดปิโตรนาสมากมาย แต่สะพานเชื่อมต่อระหว่าง 2 ตึกที่สามารถเดินข้ามได้จริง ๆ พร้อมชมวิวเมืองหลวงของมาเลเซียทุกตารางนิ้วบนความสูงที่น่าหวาดเสียวก็ยังคงเป็นเสน่ห์ของตึกแฝดปิโตนาส ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะจางหายไป และยังคงเป็นแลนด์มาร์กสำคัญแห่งการท่องเที่ยวกัวลาลัมเปอร์จะเห็นได้จากรถทัวร์ รถตู้ ที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาหมุนเปลี่ยนเวียนกันตลอดทั้งวัน                  ไปถ่ายรูปทำเก๋อยู่พักใหญ่ ก็ออกมาที่พิพิธภัณฑ์ Muzium Negara (เขียนตามป้ายหน้าประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์) ตั้งอยู่บนถนนจาลันดามันซารา ไม่ไกลจากสถานีKL เซ็นทรัล ที่นี่จะพบรถจักรสมัยโบราณจอดตระหง่านอยู่ด้านหน้า รวมถึงบ้านไม้โบราณ ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม ก่อนจะเดินเข้าสู่ด้านใน                เมื่อเดินลอดซุ้มประตูพิพิธภัณฑ์สีขาวตระหง่าน จะพบอาคารชั้นเดียว จัดแสดงรถยนต์โปรตอน ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงปัจจุบันให้ได้เห็นกัน ส่วนด้านในมีไรบ้าง เราไม่ได้เข้าไปดูเพราะเวลาท่าทางจะไม่เพียงพอกับการเข้าไปเยือนกันแล้ว เอาเป็นว่าถ้าท่านใดไปกัวลาลัมเปอร์แล้วมีเวลา มากพอ ก็อยากให้ลองเข้าไปสัมผัสเรื่องราวความเป็นมาของเมืองกัวลาลัมเปอร์ที่อยู่ด้านในกัน พิพิภัณฑ์แห่งชาติ (Museum Negara) สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1898 แต่เดิมเป็นพิพิธภัณฑ์สลังงอร์ เมื่อประเทศได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1957 รัฐบาลของมาเลเซีย ได้สร้างพิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมในสถานที่เดิม เมื่อสร้างเสร็จ กษัตริย์ยางดิ เปอร์ตวนอากงที่สาม ตวนกูซาเย็ด ปูตราอัล-ฮัจ อิบนิ อัลมาร์ฮัม ซาเย็ด ฮัสซัน จามาลลัลลาอิล ได้เสด็จมาเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1963     ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยหมุนเวียนสลับกันไป ดังนั้นก่อนที่จะเดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์ ควรตรวจสอบดูว่า ขณะนั้น พิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการอะไร เมื่อเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ คุณจะตื่นตาตื่นใจไปกับสมบัติของชาติ รวมทั้ง พระราชวังของสุลต่านซายนัลอบิดินที่สาม ซึ่งเป็นสุลต่านของรัฐตรังกานูในปี ค.ศ. 1884 และพระราชวังอิสตานาซาตู ซึ่งสร้างขึ้นจากไม้เนื้อแข็งทั้งหมด ตั้งอยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑ์ในปี ค.ศ. 1974     เพราะค่ำนี้ คณะของเราได้รับเกียรติเข้าร่วมงานที่มีความสำคัญทางศาสนาอิสลามเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่มีโอกาสอันดีขนาดนี้ งานมาลิด เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมมัด จึงทำให้มีเวลาแค่เพียงทายทักกับพิพิธภัณฑ์เพียงด้านหน้าเท่านั้น                 ภายในงาน ใน หมู่บ้าน อิควาน หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ในวันนี้ถูกจัดแบ่งเป็นหลายโซน ทั้งส่วนของการแสดงบนเวที ส่วนร้านอาหาร ส่วนของสินค้าที่ผลิตภายใต้เครือข่าย อิควาน กรุ๊ป ล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าที่ผลิตเองทั้งสิ้น ซึ่งจะบรรยายให้ฟังในช่วงท้ายๆ ที่สำคัญ ภายในงานได้จัดพื้นที่ส่วนสำคัญของการรองรับของใช้ประจำองค์ศาสดา ซึ่งปกติจะอยู่ในประเทศแถบอาหรับ แต่ถูกอัญเชิญมาให้ชาวมุสลิมที่นี่ได้สักการะและน้อมรำลึกในองค์ศาสดา ในวันนี้เป็นกรณีพิเศษ      วันนี้ทั้งน้องปู จาก H Plus พี่มล จาก พิมพ์ไทย พี่ปุ๋ย จาก ช่อง 5 น้องต้อมผู้พาเรามา พี่เอิร์ธ สายสว่าง รวมทั้งฉัน ต่างสวมผ้าคลุมศีรษะเฉกเช่นเดียวกับหญิงชาวมุสลิม ก่อนจะเข้าไปสู่ภายในโถงจัดแสดง ดาโต๊ะเดินอธิบายรายละเอียดให้ฟัง ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ “ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครจะมีโอกาสได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตกทอดมานานนับ 1500 ปี ของใช้ขององค์ศาสดา หากไม่ได้รับความไว้วางใจให้อนุญาตนำมาโชว์ เราจะไม่มีโอกาสได้เห็น” ฉันเดินไปที่หน้าตู้กระจก มองเข้าสู่ภายในตู้นั้นอย่างสงบ และตั้งใจ ท่ามกลางเสียงสวดมนต์ตลอดงาน ดาโต๊ะบอกว่า “จริงๆแล้วคือเป็นของที่เรานำมาเพื่อเป็นสิริมงคลได้นึกถึงท่าน เพื่อที่จะระลึกถึง ไม่ได้บูชา เป็นสิ่งที่เขาสามารถเก็บรักษาไว้ได้กว่า 1500 ปี เช่นสำลีที่ใช้กรอกเลือด ในหลักการเมื่อก่อนไม่มีการแพทย์ การกรอกเลือดเป็นนำเลือดเสียออกมา โดยใช้ใบมีดโกนสะกิด สมัยก่อน ท่านจะกรอกอยู่เป็นประจำ ดังนั้นเลือดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เก็บเอาไว้            เส้นผม  ที่เก็บมาได้ ศาสดาจะไว้ผมสองทรง คือ เป็นผมทรงบ๊อบปะบ่าที่ยาวออกมาและ อีกทรงคือโกน ส่วนใหญ่พวกเราทั้งหลายจึงโกน ถ้าดูในมุมของประวัติศาสตร์บรรดาสหาย เวลาออกไปทำการปกป้องสิทธิของตนเองหรือสงครามก็จะนำเส้นผมของศาสดาทูตใส่ไว้ในหมวกของเขา เพื่อให้ปลอดภัยแคล้วคลาด ไม้เท้าของโบราณ ก่อนหน้านี้ท่านเป็นผู้เลี้ยงแกะแพะในทะเลทราย พระเจ้าให้ต้องจากพ่อจากแม่ตั้งแต่เล็ก และดำเนินชีวิตอย่างยากลำบากด้วยตนเอง และไปเลี้ยงดูสัตว์ ท่านเอาใจใส่มากจนรักและเป็นห่วงสัตว์ จึงเป็นคำสอนว่าสัตว์ยังให้ความรักกับเขาได้ทำไมจึงรักมนุษย์ไม่ได้    ลูกธนู และคันธนู ใช้เพื่อป้องกันตัวเองยามเมื่อเผยแผ่ศาสนาใหม่ เนื่องจากคนสมัยโบราณจะศรัทธาต่อดวงอาทิตย์บ้าง หรือธรรมชาติบ้าง ซึ่งเมื่อนำศาสนาใหม่เข้ามาเผยแผ่จึงมีคนจ้องปองร้าย แต่ท่านไม่เคคยฆ่าใครแต่เป็นอาวุธสำหรับป้องกันตนเท่านั้น ที่ประทับตรา เป็นตราประทับของศาสนทูตเท่านั้น ในกรณีมีการส่งสารออกไป เพื่อยืนยันว่าเป็นตราของท่านจริงๆ     ฉันและเพื่อนร่วมทาง ได้เห็นถึงและสัมผัสได้ถึงความศรัทธาต่อองค์ศาสดา หากเป็นศาสนาพุทธอาจเช่นเดียวกับการระลึกและบูชาพระสารีริกธาตุที่นำมาจัดให้ชาวพุทธได้สักการะ ช่างเป็นบุญของฉันและคณะจริงๆ กับประสบการณ์อันน่าประทับใจครั้งนี้ เมื่อกลับออกมา ดาโต๊ะ ก่อนจะไปเยี่ยมหมู่บ้านอิควานกันอย่างกันอย่างละเอียด ดาโต๊ะได้ให้ข้อมูลเอาไว้อย่างละเอียดถึงที่มา ทั้งของมูลนิธิเพื่อภราดรภาพในประเทศไทยและการเกี่ยวเนื่องกับโกลบอล อิควาน “ดาโต๊ะ”แห่งมูลนิธิเพื่อภราดรภาพในไทย ผู้นำสื่อสัมผัสวิถีพอเพียง”Love&Care”ในมาเลย์ ยึดเป็นโมเดลต่อยอด หวังเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อมุสลิม ดาโต๊ะ มูฮำมัด  อาดำ ประธานมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ  หรือ Global Ikhwan Foundation  เล่าที่มาของเครือข่ายมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ (GISB)ในประเทศมาเลเซีย ว่า เกิดจาก อิหม่าม อัชอารี บินมูฮำมัด อัตตามีมี   หรือที่รู้จักในนาม “อาบูยา” ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกดร.มหาเธร์ บิน โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นกักบริเวณด้วยถูกมองว่าเพื่อความมั่นคง  เพราะเป็นผู้ที่มีคนและลูกศิษย์ให้ความนับถือมากมาย  ท่านถูกกักบริเวณนานนับสิบปี  ไว้ที่บ้านหลังหนึ่งบริเวณ Bandar Country Home Ranwang  Selangor (ปัจจุบันคือ BCH  หรือ Ikhwan องค์กรการกุศลที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย) เดิมเป็นที่ที่มีแต่ชาวจีนอาศัยอยู่ ” เมื่อถูกกักบริเวณ ท่านใช้ความอดทนไม่ได้เรียกร้องใดๆ มีเพียงลูกและภรรยาที่ให้เข้ามาอยู่ด้วย สุดท้ายท่านขอพรจากพระเจ้า โดยตั้งอธิษฐานจิตว่า หากองค์กรเอ็นจีโอของท่านทำคุณประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์และประเทศชาติ ขอให้พระเจ้าพิสูจน์ให้เห็นว่าองค์กรนี้เป็นองค์กรที่ตรงกับสัจจะ พระเจ้าโปรดพิจารณา หลังจากนั้น สิ่งต่างๆ ก็เริ่มเข้ามา มีคนยอมรับมากขึ้น จากจุดเริ่มต้นจากเลขศูนย์ มีภรรยา 4 คน ลูก 39 คน และหลาน 200 คน อยู่ด้วยกัน ท่านได้ขอกับหน่วยงานรัฐว่า ต้องทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว ขอเปิดมินิมาร์ทขึ้นเป็นแห่งแรก ให้ภรรยาและลูกช่วยกันทำข้าวผัดจำหน่าย เมื่อสังคมขยายตัวมากขั้น การก่อกำเนิดทายาท ต้องอาศัยห้องคลอด แต่เนื่องจากติดปัญหาทางศาสนา ผู้หญิงไม่สามารถคลอดโดยให้เพศชายทำได้ จึงได้ขอเปิดคลินิกคลอดบุตร จึงมีแพทย์ พยาบาลจิตอาสาผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาดูแล”ดาโต๊ะ เล่าถึงจุดกำเนิดของ”อิควาน” ดาโต๊ะ กล่าวต่อว่า หลังจากการดูแลกันและกันของเหล่าจิตอาสาหมู่บ้านแห่งนี้จึงพัฒนาขึ้น ทำให้ปัจจุบันคลินิกมีแพทย์ประจำ 24 ชั่วโมง มี Global Ikhwanทั่วโลก 700 ยูนิต ทำธุรกิจที่หลากหลาย มีร้านอาหาร 120 กว่าร้าน ร้านเบเกอรี่ มากกว่า 80 ร้าน โรงงาน และอื่นๆ ในหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ดูไบ ซิดนีย์ เพิร์ธ จาการ์ต้า กรุงเทพฯ ภูเก็ต ฝรั่งเศส ไคโร เชียงใหม่ อิสตันบูล เป็นต้น  สามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วยรายได้จากการทำธุรกิจเดือนหนึ่งละ  3 ล้านมาเลเซีย หรือ 30 ล้านบาทไทย  เป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ของการเป็นเศรษฐกิจพอเพียง ดาโต๊ะ เล่าด้วยว่า  เมื่อเกิดความสำเร็จมากมายจนสามารถเลี้ยงดูผู้คนใน BCH สำเร็จที่ท่านอาบูยา กล่าวไว้ว่า เป็นลิขิตของพระเจ้า ซึ่งสุดท้าย นาจิบ ราซะก์ นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน ก็ปล่อยให้อาบูยาให้เป็นอิสระ และยกย่องให้เป็นบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ สำหรับ Global Ikhwan Foundation นี้  จึงเกิดโรงเรียน และอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งดาโต๊ะต้องการนำรูปแบบนี้ทำที่เมืองไทย” บรรยากาศงานวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมมัดในช่วงเช้าที่จัดขึ้นกลางหมู่บ้านโกลบอลอิควาน                              ฉันเดินตามดาโต๊ะ ไปตามอาคาร ภายในหมู่บ้านซึ่งมีทั้งโรงเรียนหญิงล้วน ห้องคลอด มินิมาร์ท โฮมสเตย์ ร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า ซึ่งทุกส่วนล้วนสัมพันธ์เกื้อหนุนกันและกัน ภายในหมู่บ้าน                            ช่วงหยุดพัก ดาโต๊ะ เชื้อเชิญให้เข้าสู่ห้องประชุมภายในมูลนิธิ ก่อนจะเล่าต่อถึงที่มาของมูลนิธิเพื่อภราดรภาพในเมืองไทยว่า “ดาโต๊ะเป็นประธานและผู้ก่อตั้ง จดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 กันยายน ปี 2554   โดยก่อนหน้านั้นดาโต๊ะ ร่วมดูแลโรงเรียนสอนศาสนา ที่จ.ภูเก็ต มากว่า 15 ปีแล้ว  เป็นโรงเรียนสถาบันศาสนา โดย ฮัจยะห์ มะปะห์ ยุคุณธร  บริจาคที่ดินให้ สร้างอาคารเรียนและจากที่ตัวเองสอนหนังสือมานาน ได้เห็นเด็กยากจน เด็กกำพร้า เด็กพิการ แม่ม่ายที่ดูแลบุตรตัวคนเดียว จึงคิดว่าน่าจะให้ความช่วยเหลือ และอุปการะคนเหล่านี้ จึงปรึกษากับผู้อาวุโสและคณะครู จึงจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมา เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคณะครูและคณะกรรมการต่างๆ คำว่าภราดรภาพ แปลว่า มิตรภาพของเพื่อนพ้องมิตรแท้ที่มารวมตัวกัน ในภาษาอาหรับ คือคำว่า อิควาน  จดทะเบียนเลขที่ 3 /21 ปุทมธานี ดาโต๊ะ บอกว่า “พ่อแม่ท่านให้ที่ดินมา 7 ไร่กว่า เพื่ออุทิศในการทำมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกและผู้ใจบุญจากหลากหลายอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่มีธุรกิจส่วนตัวอยู่แล้ว รายได้ส่วนนี้จึงมาเป็นตัวหล่อเลี้ยงมูลนิธิฯ โดยมีเป้าหมาย เพื่ออุปถัมภ์ด้านทุนการศึกษาให้เด็กด้อยโอกาส เด็กกำพร้า เด็กยากจน และช่วยเหลือหญิงม่ายที่ยากจน และเป็นสื่อกลางสำหรับการรับบริจาคทั้งสิ่งของและเงิน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ด้อยโอกาสที่ว่าเหล่านี้ต่อไป รวมถึงการบูรณะศาสนสถาน การช่วยเหลือครูผู้ยากไร้ ซึ่งปัจจุบันนอกจากสอนศาสนาแล้วยังสอนอาชีพให้กับเด็กๆ และหญิงม่าย เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องเป็นภาระของสังคม” อย่างไรก็ตามการเดินทางนำสื่อมวลชนมาเยี่ยมเครือข่าย GISB ในมาเลเซีย เพื่อให้ได้มองเห็นการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้หลัก”Love &Care” ที่ดาโต๊ะ มูฮำมัด เป็นที่ปรึกษา GISB  ที่มีเครือข่ายทั่วโลก เพื่อให้สื่อมวลชนได้เข้าใจและสัมผัสถึงชาวมุสลิม ที่รักสันติยึดวิถีชีวิตพอเพียงอย่างครบวงจรนั้นเป็นอย่างไร เขามีแต่ความรัก ความเอื้ออาทรต่อกันไม่แฝงการเมือง ไม่แฝงผลประโยชน์ ทุกคนช่วยกันจริงๆ เพื่อจรรโลงให้ทุกคนอยู่กันอย่างมีความรัก มีความสันติสุข       “ดาโต๊ะมาดูงานเพื่อนำไปพัฒนาที่เมืองไทย ดาโต๊ะเป็นคนที่ชอบการพัฒนา ชอบที่จะรับใช้สังคมอยากทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองตามความสามารถที่มี จนได้มาเจอกับอาบูยา ที่ท่านพัฒนาจากตัวเองก่อน และไปที่ครอบครัวและไปสู่คนรอบข้าง ทำให้มีความคิดว่า ทำอย่างไรจะให้มีวิถีชีวิตพอเพียงเกิดขึ้น เมื่อมาศึกษางานที่นี่จึงเห็นว่าตรงกับที่ตัวเองต้องการ จึงนำไปทำที่เมืองไทย ก็ได้รับการตอบรับดีมาก เราก็ลิงค์กับมาเลเซีย เพราะเขาทำงานในนามมูลนิธิฯ  จดทะเบียนเป็นโกลบอลอิควาน แปลว่า ภราดรภาพ เมื่อเขาเห็นเราทำงานจริงจัง จึงถือเป็นโมเดลที่เราจะนำกลับไปทำที่เมืองไทย” ดาโต๊ะ มูฮำมัด กล่าวถึงความมุ่งมั่น ท่านบอกด้วยว่ามูลนิธิเพื่อภารดรภาพของไทย ยังไม่มีคลินิก แต่มีทีมที่เป็นหมอแผนโบราณ มานวดเพื่อการรักษา มีสปา  มีครูจากกศน.มาสอนอาชีพกว่า 40 อาชีพ  ส่วนเงินทุนเริ่มต้นจากบรรดาจิตอาสาในทีมก่อน หลังจากนั้นแต่ละคนก็บอกต่อๆกันไป และเมื่อผู้มีจิตศรัทธาเห็นว่า เราทำงานจริง จึงเริ่มสนับสนุนเพิ่มเข้ามา “เรามีแนวคิดว่าน่าจะทำธุรกิจเหมือนกับที่โกลบอลอิควานทำ คือ เปิดร้านอาหาร ทำสวนเกษตร เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และฝึกอาชีพ ทำทัวร์ ต่าง ๆ เพื่อหารายได้เข้ามาจุนเจือให้มูลนิธิฯ ปัจจุบันเราสร้างเยาวชนขึ้นมาเป็นแกนนำ ก็เปิดร้านอาหาร มีที่เชียงใหม่ ภูเก็ต สตูล หาดใหญ่ มีนบุรี ที่เน้นเปิดร้านอาหารเพราะสามารถรู้กำไรขาดทุนวันนั้นได้เลย และทำให้เห็นรายได้เลยว่าจะจุนเจือช่วยเหลืออย่างไร และเด็กได้กินอิ่ม ญาติพี่น้องของนักเรียนมาก็เลี้ยงดูได้เลย อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของผู้เข้ามา ทำให้ได้รู้จักและรับรู้ถึงกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ เกือบทุกครั้งที่นำเสนอ ลูกค้าที่ศรัทธาจะบอกว่าไม่ต้องทอน ร่วมบริจาคเลย รายได้เข้ามามากกว่าการจำหน่ายอาหารด้วยซ้ำ มูลนิธิเพื่อภราดรภาพในประเทศไทย จึงเป็นส่วนหนึ่งของ GISB เช่นกัน” ดังนั้นในฐานะเป็นตัวแทนจากประเทศไทย มูลนิธิเพื่อภราดรภาพ ในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของโกลบอลอิควาน  โดยมี Dato Lokman Hakim Pfordten Abdul Rahim  CEO  ชาวมาเลเซีย ซึ่งตอนนี้มี 24 ประเทศ ผู้หญิงจะไปฝึกงานร้านอาหาร อาหารเน้นการปรุงแบบฮาลาลตรงหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งฮาลาลหมายถึงคนเชื้อชาติใดก็สามารถทานได้ แต่ถ้าไม่มีฮาลาล มุสลิมกินไม่ได้ จึงเน้นฮาลาล ซึ่งไม่ใช่กฎเกณฑ์ แต่อยู่ที่ว่าสิ่งที่ทำตรงกับหลักการ ความสะอาด ความถูกต้อง โดยมีสต๊าฟ เป็นพี่เลี้ยง การเรียนในโรงเรียนของมูลนิธิ จะเน้นเรื่องการเรียนครึ่งวันและฝึกอาชีพครึ่งวัน  ผู้ชายเน้นเรื่องเรียนศาสนาและอาชีพ เรียนควบคู่กัน เมื่อเรียนจบ แล้วแต่ว่านักเรียนจะอยากทำอะไร หากต้องการทำร้านอาหารก็จะมีการเปิดร้านให้ โดยธุรกิจมี40 กว่าอย่าง เช่นอู่ซ่อมรถ โรงงานเส้นหมี่ เกษตรเลี้ยงปลา และดูตามความเหมาะสมและความถนัดของนักเรียน “ดาโต๊ะ อยากให้สื่อมวลชนได้ทราบถึงการบริหารจัดการมูลนิธิของเรา โดยนำสิ่งดีๆ ไปเป็นตัวอย่าง และเผยแพร่หากจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะประเทศไทยที่ผมรัก ผมอยากให้คนไทยอยู่ในระบบเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ใช่รอของบจากหน่วยงาน  อยากให้พัฒนาตนเองและชุมชนด้วยตัวเอง การเปิดโรงเรียนของเราไม่ได้ต้องการเปิดใหญ่โต เหมือนกับการเลี้ยงปลาในกระชัง  สามารถดูแลและปกป้องง่าย เพียงแต่เปิดหลายๆ จุด และขยายไปยังที่ต่างๆ เนื่องจากเรามีเครือข่ายทั่วโลก จึงขึ้นอยู่กับความเก่งของผู้บริหาร ซึ่งสมาชิกมีทั้งคริสต์ พุทธ ครับ “ คุณรชต ลาตีฟี หนึ่งในมุสลิมใจบุญจากเมืองไทย ที่เข้ามาเป็นจิตอาสามูลนิธิเพื่อภราดรภาพ กล่าวเสริมด้านการศึกษาในมูลนิธิฯ ว่า  เห็นรูปแบบการศึกษาของมาเลเซีย แล้วได้ผล จึงนำระบบการศึกษาของโกลบอลอิควาน มาใช้เมืองไทย หลังจากนั้นดาโต๊ะจึงมีดำริว่า คนที่มาส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน มีปัญหา จึงคิดว่าน่าจะมีมูลนิธิ จึงมาศึกษา เขามีมูลนิธิที่เลี้ยงดูเด็ก จึงเชื่อมกันจากจุดนั้น ตอนนี้การศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. ได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตของเราและเห็นถึงการสอนอาชีพในมูลนิธิฯ  จึงคิดว่าน่าจะมีหลักสูตรพื้นฐาน เมื่อปีที่แล้วจึงเข้ามาจัดตั้งศูนย์ กศน.ที่มูลนิธิเพื่อภราดรภาพ แล้ว เป็นการยกระดับการศึกษา โดยนำครูและวิทยากรต่างๆ มาช่วยสอนภาคสามัญและนำเด็กในมูลนิธิฯ มาเรียนกศน.ด้วย ——————————————————————————————————————————————– รุ่งอรุณวันที่สอง ที่เกนติ้งและปุตราจายา    เช้าวันใหม่ดาโต๊ะพาคณะขึ้นไปเยือน Genting Highlands อยู่ในพื้นที่รัฐปะหัง ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ 51 กิโลเมตร จากนั้นนั่งกระเช้าขึ้นสู่ยอดเขาที่มีความสูงถึง 2,000 เมตรอากาศหนาวเย็น และมีหมอกตลอดปี บนยอดเขาเต็มไปด้วยความบันเทิงหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น คาสิโน โรงแรมหรู โรงภาพยนตร์ สนามกอล์ฟ และสวนสนุกอีก 2 แห่ง คือ Outdoor Theme Park และ First World Indoor Theme Park                           ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นกลางสายหมอกที่ลงจัดจนแทบจะมองอาคารไม่เห็น เราหยุดบันทึกภาพกัน ไม่นานนักเราก็กลับกันลงมาเพื่อไปเที่ยวกันต่อ เมืองใหม่ ปุตราจายา  เมืองใหม่ ปุตราจายา ซึ่งเป็นเมืองที่เกิดจากแนวคิดของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ที่สร้างเมืองขึ้นเพื่อเป็นที่ตั้งของฝ่ายบริหารและประมุขของประเทศ อยู่ทางตอนใต้ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีพื้นที่ราว 4,932 เฮกเตอร์ ส่วนประกอบสำคัญของเมืองได้แก่ทะเลสาบที่สร้างขึ้นโดยการขุด จึงทำให้เมืองปุตราจายามีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และมีสะพานที่ออกแบบอย่างสวยงามถึง 5 สะพาน           ปุตราจายา เป็นเขตปกครองพิเศษ สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่อยู่บนพื้นที่ของรัฐสลังงอร์ อยู่ห่างไปจากกัวลาลัมเปอร์ทางทิศใต้ 25 กิโลเมตร ชื่อ “ปุตราจายา” นี้มาจากชื่อนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย นามว่า “ตนกู อับดุล รามัน ปุตรา อัลฮัจ” Putrajaya Sentral เขตเมืองใหม่แห่งนี้มีศูนย์กลางการคมนาคม คล้ายกับ KL Sentral ในกัวลาลัมเปอร์             สถานที่สำคัญในเมืองนี้มี มัสยิดปุตรา (Putra Mosque) หรือมัสยิดสีชมพู มีทะเลสาบด้านข้างมัสยิดซึ่งสามารถมองเห็นเงาสะท้อนสีชมพูที่ผิวน้ำจนดูเหมือนมัสยิดลอยน้ำ มัสยิดปุตราเป็นอาคารรูปโดมสีชมพู สร้างขึ้นจากแกรนิตสีชมพูสวยงาม สามารถรองรับชาวมุสลิมที่เข้ามาทำพิธีทางศาสนาได้ประมาณ 15,000 คน ผนังใต้ดินเหมือนกับผนังของห้องใต้ดินของมัสยิดกษัตริย์ฮัตซันในเมืองคาซาบลังกา ประเทศโมรอคโค ประกอบด้วยพื้นที่ใช้งานสามส่วนด้วยกันได้แก่ ห้องสวดมนต์ ลานนอกสุเหร่า (Sahn) ห้องเรียนและห้องประชุมต่างๆ ห้องสวดมนต์มีความเรียบง่ายทว่าสง่างาม มีเสา 12 เสา จุดสูงสุดใต้โดมอยู่สูงกว่าระดับพื้นดิน 250 ฟุต นอกจากนี้ จะมีหอคอยสูงที่สวยงามที่สร้างขึ้นโดยได้รับอิทธิพลมาจากมัสยิดชีคโอมาร์ในแบกแดด หอคอยดังกล่าวมีความสูง 116 เมตร และเป็นหนึ่งในหอคอยที่สูงที่สุดในภูมิภาค มีห้ายอด เป็นสัญลักษณ์ของเสาหลักทั้งห้าในศาสนาอิสลาม และที่ริมทะเลสาบยังมีสะพานเสรีวาวาซาน (Seri Wawasan) สะพานขึงรูปร่างแปลกตาอีกด้วย ด้านหน้าของมัสยิดปุตรา คือ ปุตราสแควร์ (Putra Square) ลานกว้างแห่งนี้มีรูปดาว 13 แฉก หมายถึงรัฐทั้ง 13 ของมาเลเซีย มีธงของแต่ละรัฐตั้งอยู่ตามแฉกต่าง ๆ ตรงกลางเป็นธงชาติมาเลเซีย และสถานที่อีกแห่งคือ ที่ทำการนายกรัฐมนตรี (Perdana Putra Complex) เป็นอาคารขนาดใหญ่มียอดโดมสีฟ้า ด้านหลังมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ตรงกลางสวนเป็นที่ตั้งของวังเมลาวาตี (Istana Melawati) เปอร์ดานาปุตรา (Perdana Putra)เป็นทำเนียบรัฐบาลของคณะรัฐมนตรีของมาเลเซีย ตั้งอยู่บนยอดเขา มีสถาปัตยกรรมที่คล้ายๆ กับมัสยิด แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างศาสนาและวิถีชีวิตของชาวมาเลเซียได้เป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวหากจะเดินทางมาปุตราจายาด้วยรถสาธารณะ ไม่ค่อยสะดวก ทางที่ดีเช่ารถยนต์หรือเรียกแท็กซี่จะทำให้ช่วยมาสำรวจปุตราจายาได้สะดวกขึ้น                         ———————————————————————————————————————————————– วันที่ 3 บนไร่ชา คาเมรอน ไฮแลนส์  วันนี้ดาโต๊ะพาคณะขึ้นไปเยือนไร่ชาที่มีชื่อเสียงของมาเลเซีย คาเมรอน ไฮแลนส์ (Cameron Highlands) ที่รัฐปาหังจากพื้นราบนั่งรถเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาขึ้นยอดภู ไล่ตามกันด้วยรถตู้สองคัน ที่นี่ทั้งสภาพอากาศและภูมิประเทศคล้ายกับทางแม่ฮ่องสอนหรือเชียงรายบ้านเรา โดยเฉพาะบริเวณที่ปลูกชา แต่การปลูกชาแม้จะลดหลั่นไล่เชิงเขา แต่เขาจะปลูกเป็นหย่อมๆ ไม่ได้ปลูกไล่ยาวเหมือนบ้านเรา หนึ่งกิจกรรมยอดนิยมในคาเมรอน ไฮด์แลนด์ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมที่นี่ก็คือ การจิบชาและกินขนมสโคน ธรรมเนียมในแบบอังกฤษนี้เริ่มต้นขึ้นในสมัยที่มาเลเซียเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษ นายทหารชาวอังกฤษใช้ที่ราบสูงแห่งนี้เป็นสถานที่ผ่อนคลายจากอากาศร้อนในเมืองด้านล่าง กิจกรรมอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมได้แก่ การเดินป่าและการดูนก ที่ราบสูงคาเมรอน ไฮแลนส์ มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,500 เมตร บนที่ราบสูงมีเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่เช่น ริงเกล็ต ทานาห์ราตา บรินชาง ตริงกัป กัวลาเตอร์ลา และกัมปงรายา นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นไปยังที่ราบสูงแห่งนี้ได้อย่างง่ายดาย คาเมรอน ไฮแลนส์อยู่ห่างจากทางหลวงสายเหนือ-ใต้ ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง และสามารถขับรถมาจากเมืองกัวลาลัมเปอร์โดยใช้เวลาเพียง 3.5 ชั่วโมงเท่านั้น                      คาเมรอน ไฮแลนส์ เป็นที่ราบสูงขนาดใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย เมื่อไต่เลาะเรื่อยตามทาง เราจะพบหมู่บ้านเล็กๆ มีฟาร์มผีเสื้อ ไร่สตรอเบอร์รี่ ที่ YZ Agro Farm ไร่สตรอเบอรี่ ของเพื่อนดาโต๊ะชาวมาเลเซีย หนึ่งในเจ้าของฟาร์ม ให้การต้อนรับ เปิดตั้งแต่เวลา 8.30 –  18.30 น. ทุกวันเว้นวันอังคาร YZ Agro Farm ภายในฟาร์มแบ่งพื้นที่เป็นส่วนของสตรอเบอรี่พันธ์มนตรีและพันธ์เฟสติวัล เปิดให้คนเข้าเยี่ยมชมได้ตั้งแต่ปี 2010 รวมถึงจุดให้บริการกาแฟ เบเกอรี่ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสตรอเบอรี่ อาทิ กาแฟสตรอเบอรี่                         เค้กสตรอเบอรี่  ละแวกใกล้เคียง มีโรงเรียนนานาชาติ มีร้านอาหารเล็กๆ มีโฮสเทล และมินิโฮสเทลไว้รองรับนักท่องเที่ยว แต่หากไกลจากไร่สตรอเบอรี่ออกมาหน่อย อีกมุมหนึ่งระหว่างทางจะพบโรงแรมสไตล์ทิวดอร์ในชนบทเก๋ๆ ไว้บริการ ตั้งแต่แบบห้าดาว สี่ดาว สามดาวละไล่ลงมา มีร้านอาหาร ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า หากต้องการสัมผัสกับบรรยากาศที่แสนจะบริสุทธิ์ เย็นๆสบาย ถือว่าเป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจสำหรับคนไทยจริง ๆ                ค่ำนี้ เรามีนัดกับครูและนักเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาที่มัรโบะ  Laguna Ikhwan หุบเขาแห่งภราดรภาพ โรงเรียนสอนทั้งศาสนาและการปฏิบัติกิจกรรมด้านศาสนา โดยเด็กๆ จะได้รับการสอนให้อ่านและเขียนคัมภีร์อัลกุรอ่าน และการละหมาด มีหลักสูตรเฉพาะที่อาจารย์ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เด็กได้กล้าแสดงออก เด็กนักเรียนมาจากมาเลเซีย อินโดนีเซียและประเทศไทยทั้งหมด 43 คน โดยมีอุสตาส (ครู) มีทั้งจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย มีทั้งหมด 11 คน เด็กๆ ทั้งหมดถือเป็นลูกหลานของอิควาน ซึ่งจะสืบทอดเจตนารมณ์ในการสอนศาสนาต่อไป     dsc_0625_resize   dsc_0633_resize dsc_0655_resize   dsc_0666_resize ดาโต๊ะ ซึ่งบริหารโรงเรียนแห่งนี้ด้วย บอกว่า “ การศึกษาที่นี่จะสอบคัดเลือก ไม่ได้มาจากการท่องจำอย่างเดียว มีการปรับพื้นฐาน เหมือนไก่ป่า เราพัฒนาคนให้เขาเติบโตโดยไม่ต้องใช้งบของรัฐบาล เมื่อสร้างบุคลากรแล้ว หลังจากนั้นเขาก็จะดำเนินชีวิตในสังคมได้ต่อไป เหมือนไก่ป่าปล่อยที่ไหนก็มีชีวิตรอด พื้นที่นี้เดิมเป็นสวน กว้างยี่สิบกว่าไร่ ตอนหลังดาโต๊ะได้เข้ามาปรับและพัฒนาพื้นที่ โดยมีส่วนของอาคารเรียน โรงนอน ห้องโถงแสดง ส่วนสอนอาชีพ มีการทำบะหมี่ทั้งเพื่อไว้ทานเองและจำหน่ายเพื่อหล่อเลี้ยงโรงเรียน และที่ดาโต๊ะตั้งใจจะทำให้สำเร็จคือส่วนชมภาพยนตร์ เพื่อรองรับผู้มาเยือนให้ได้ชมความเป็นมาของทางโรงเรียน “ แล้วค่ำนี้เราก็จุ๊บมือร่ำลากันในช่วงเวลาเกือบเที่ยงคืน การแสดงออกถึงความเคารพต่อผู้ใหญ่ โดยผู้ที่อ่อนเยาว์กว่าจะเป็นผู้โน้มก้มศีรษะต่ำลงและจูบที่หลังมือของผู้มีอายุสูงกว่า  ครั้งนี้ฉันได้รับเกียรติในการจูบมือหลายต่อหลายครั้งต่อเด็กในโรงเรียนต่างๆ ที่ดาโต๊ะพาไปเยือน ทำเอาแอบปลื้มอยู่ในหัวใจไม่หายเลยทีเดียว dsc_0677_resize ________________________________________________________________________________ วันสุดท้ายในดินแดนมาเลเซีย “สลามัตปากี” เช้านี้ทุกคนเก็บสัมภาระขึ้นรถตู้ เพื่อเดินทางไปต่อกันยัง โรงงานต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงมูลนิธิ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตน้ำดื่มซึ่งสามารถผลิตจำหน่ายได้วันละนับหมื่นขวด โรงงานผลิตขนมปัง โรงเรียน Ikhwan Stable ซึ่งรับเด็กพิเศษเข้ามาร่ำเรียนผสมผสานกับเด็กธรรมดา ด้วยการใช้ม้าในการบำบัด แต่เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม โรงเรียนจึงเปิดรับนักเรียนจากที่ต่างๆเข้ามาออกแคมป์ซัมเมอร์ วันนี้ฉันและคณะจึงได้เห็นลีลาการร่ายรำของเด็กสาว และฟังน้ำเสียงประสานของเด็กหนุ่มที่ตั้งอกตั้งใจร้องกันอย่างมากๆ โรงงานผลิตน้ำดื่ม             โรงงานขนมปัง         โรงเรียน Ikhwan Stable                 การเดินทางมาทริปนี้ ผู้จัดได้พาคณะสื่อมวลชนขึ้นเครื่องบินจากกรุงเทพฯ มาลงกัวลาลัมเปอร์ และแวะเยี่ยมชมสัมผัสวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในมาเลเซียละเรื่อย ผสมกับการท่องเที่ยวในแบบเบาๆ ตามสถานที่ต่างๆ และเลาะขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อมาจบที่ชายแดนเพื่อข้ามไปยังฝั่งไทยและขึ้นเครื่องจากสงขลากลับสู่เมืองไทย ต้องขอขอบคุณทุกท่านและคุณรชต ลาตีฟี มุสลิมใจบุญจากเมืองไทย ผู้นำพาสิ่งดีๆ ให้เราชาวพุทธได้เรียนรู้และสัมผัสกับความเอื้ออารีย์ น้ำใสใจคอที่น่ารักของคนมุสลิมในครั้งนี้ ที่บอกถึงความตั้งใจกับฉันเมื่อวันก่อนว่า “สิ่งที่อยากให้สังคมได้รับรู้  คือ วิถีชีวิตของคนมุสลิม ภาพลักษณ์ต่างๆ ถูกมองไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องและถูกเผยแพร่ขยายความไปโดยสื่อมวลชน ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ได้นำสื่อมวลชนเข้ามาสัมผัส ผมก็เป็นมุสลิมคนหนึ่งแต่ไม่เคยมีวิถีชีวิตแบบนี้  และครั้งหนึ่งเมื่อได้เข้ามาสัมผัส  ก็รู้สึกว่า ใช่ จริงๆ ทำให้ผมรู้สึกว่าอยากบอกต่อ และอยากชวนให้คนทั่วไปได้มาเห็นอย่างที่ผมเห็นและสัมผัส อย่างน้อยๆ ได้รู้ว่าวิถีชีวิตของชาวมุสลิมเป็นแบบไหน ชีวิตเป็นอย่างไร ที่ฟังมาไม่ใช่ อย่างน้อยเป็นหนึ่งเสียงที่สามารถพูดออกไปได้ว่ามุสลิมไม่ใช่มีแต่ภาพที่เขาเผยแพร่กัน ตรงนี้เป็นวัตถุประสงค์หลักเลยที่ผมเชิญสื่อมวลชนมา เพื่อให้เขามีกระบอกเสียง เพื่อให้คนได้มองคนมุสลิมในมุมที่ดีขึ้น  ผมยินดีมากหากจะมีสื่อท่านใดต้องการมาสัมผัสและเข้าใจวิถีของมุสลิม “ สำหรับชาวไทยแล้ว  ในกรุงเทพมหานคร วันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2560 ทางมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ จะจัดงานภายใต้ธีมส์Love & Care โดยจัดเป็นอินเตอร์  ให้มีการแต่งงานหมู่ โดยเชิญคู่บ่าว สาว จากเครือข่ายทั่วโลก  มาเข้าพิธีสมรสหมู่ที่นี่ ประมาณ 30 คู่  มีการฉายภาพยนตร์ มีละครเวทีกำกับการแสดงโดย มารุต สาโรวาท เป็นการนำส่วนประวัติศาสตร์ของศาสดามาถ่ายทอดในรูปแบบละครเวที จะมีการทำบทเพลงหรือนาซิส แปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนทุกศาสนาเข้าใจได้ง่ายขึ้น นำเนื้อหามาแปลและแต่งให้สวยงามขึ้นโดยหลักการยังอยู่เหมือนเดิม และมีการแจกสิ่งของ มอบทุนการศึกษา โดยดาโต๊ะ กล่าวเสริมว่า  “ในยุคปัจจุบัน การแต่งงานต้องใช้งบสูง ค่อนข้างสิ้นเปลืองทั้งค่าสินสอด ค่าโรงแรมและพิธีการต่างๆ จึงทำให้ตัดสินใจไม่แต่งงานกัน ใช้การอยู่ร่วมกันไปเลย ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอีกด้วย ซึ่งก่อนการแต่งงาน ทางมูลนิธิฯ จะจัดอบรม ให้รู้ถึงการปฏิบัติตัว การใช้ชีวิตคู่ การอยู่ด้วยกันอย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ซึ่งการจัดการแต่งงานหมู่ ยังเข้ากับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในการประหยัดและถือเป็นจุดเริ่มต้นของความพอเพียงด้วย…” สำหรับการแถลงข่าวการจัดพิธีสมรสหมู่ในเดือน 2560  เตรียมติดตามกันได้ทางข่าวสารของ www.biztripnews.net ซึ่งจะนำในคราวต่อไป สื่อมวลชนมาจะเป็นกระบอกเสียงที่ช่วยกรองข่าวที่จะเผยแพร่ออกสู่สาธารณะชน ให้รับทราบว่าจริงๆแล้ววิถีชีวิตมุสลิมเป็นแบบไหน ซึ่งสื่อเองเมื่อได้สัมผัสแล้วถ่ายทอดไป จะมีความน่าเชื่อถือ เพราะนำเสนอเรื่องจริงที่ได้จากประสบการณ์ตรง คุณรชต เสียงที่บอกถึงความตั้งใจ …….สำหรับผู้เขียนแล้ว บิซทริปนิวส์ เป็นเพียงกระบอกเสียงจากสื่อเวปไซต์เล็กๆ อาจเผยแพร่ข่าวสารได้ไม่มากมายทั่วถึงดั่งสื่อเวปไซต์ชื่อดังของประเทศ แต่เชื่อเถอะว่า นับจากนี้เป็นต้นไป ผู้เขียนในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่ง จะเพียรพยายามให้ข้อมูลอันแท้จริงต่อผู้คนจากประสบการณ์การเข้ามาสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวมุสลิมที่มากด้วยน้ำจิตน้ำใจ มากด้วยรอยยิ้มและความเอื้ออาทร …..และจะเพียรพยายามให้ผู้คนได้เข้าใจและหลงรักชาวมุสลิมเหมือนดั่งที่ฉันตกหลุมรักเข้าแล้วอย่างเต็มหัวใจ เตอรีมา  กาเซ๊ะ (Terima  Kasih)  ___________________________________________________________________ ขอขอบคุณ ดาโต๊ะ มูฮำมัด อาดำ คุณรชต  ลาตีฟี คุณมูฮำมัด เฟาซีฮ์ คุณมณสิการ รามจันทร์  คุณชดา บูรณะพิมพ์ และพี่น้องมุสลิมที่น่ารักทุกท่าน เนื้อร้องของเพลง ปรัชญามนุษย์ เป็นเพลงภาษามลายู ที่เฟาซีฮ์ ร้องให้ฟังบนรถตู้ขณะพาท่องเที่ยว  อันคนเราทุกคน มีเชื้อสายเดียวกัน มาจากพ่อเดียวแม่เดียวกัน เผ่าพันธุ์ต้นตระกูล ของมนุษย์มีหนึ่งเดียว เกิดมาจากอาดัมส์และอีวา พระเจ้าเป็นผู้ทรงเอกา เป็นผู้ที่สร้างมวลมนุษย์ขึ้นมา แล้วจึงกลับกลายมาเป็นเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์มากมาย หลายหลากภาษา อันคนเราทุกคน ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ถึงจะต่างกัน เรื่องเชื้อชาติ จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน มนุษย์ไม่อาจโดดเดี่ยวเดียวดายอยู่เพียงลำพัง ถึงจะเก่งและร่ำรวย เป้าหมายของคนเราคือสิ่งเดียวกัน อยากให้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง อยากให้มีความรักเอื้ออาทร อยากให้มีความสุขสมร่มเย็น แล้วเพราะเหตุใดจึงต้องมาเป็นศัตรูกัน ใยจึงต้องมารุกรานและเข่นฆ่ากัน เหตุไฉนจึงละทิ้งความรักความผูกพัน เพราะเหตุใดถึงได้ยอมทิ้งสันติภาพ ความจริงแล้วมันคือ อาหารของหัวใจ ที่ไม่มีใครขาดมันไปได้เลย โปรดหยุดยั้งการเป็นศัตรู หลีกเลี่ยงกันไปให้ห่างความขัดแย้งกัน หันมาสร้างความรัก ความห่วงใยกัน … เพื่อสร้างความร่มเย็น สร้างสันติภาพและความสงบสุข เริ่มจากความรักและความห่วงใยของผู้นำ ผู้นำพาสันติภาพสู่มวลมนุษย์