อาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์—1 ก.พ. สถานที่สำคัญกว่า 100 แห่งใน 32 ประเทศทั่วโลกร่วมเปิดไฟส่องสว่างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำวันวันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยโลก (World NTD Day) ที่จัดขึ้นเป็นปีที่สามเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ประกอบด้วยเบลล์ทาวเวอร์ในเมืองเพิร์ธ, โตเกียวทาวเวอร์, กำแพงเมืองจีน, สถานีรถไฟนิวเดลี, สะพานชีดซาเอดในอาบูดาบี, เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ, ศูนย์การประชุมนานาชาติเคนยาตตา, โคลอสเซียมในกรุงโรม, น้ำพุแฌโด, น้ำตกไนแอการา, ซีเอ็นทาวเวอร์, ห้องสมุดประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ และกริชตูเรเดงโตร์
นอกจากนี้ ยังมีไฮไลท์จากสถานที่สำคัญในประเทศเฉพาะถิ่นต่าง ๆ เช่น บังกลาเทศ, บราซิล, บุรุนดี, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, เอธิโอเปีย, กานา, อินเดีย, เคนยา, ไลบีเรีย, เม็กซิโก, ไนเจอร์, ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์, รวันดา, ซูดานใต้ และซูดาน ตามที่ประกาศไว้ที่เมืองอาบูดาบีเมื่อปี 2552 โดย "ไฟที่ส่องสว่าง 100 ดวง" นี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (NTDs) และสนับสนุนเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการกำจัดโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย อย่างน้อยหนึ่งรายการจาก 100 ประเทศเฉพาะถิ่นภายในปี 2573
วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยโลกเป็นการเคลื่อนไหวระดับโลกที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นชุมชนด้านสุขภาพทั่วโลกและร่วมมือกับสาธารณชนในความพยายามอย่างเร่งด่วนเพื่อการยุติโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย โดยในปีนี้ องค์กรเพื่อความร่วมมือในการต่อต้านโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (Uniting to Combat NTDs) ได้อาศัยโอกาสนี้เพื่อเปิดตัวแคมเปญความมุ่งมั่น 100% (100% Committed Movement) ซึ่งทุ่มเททั้งทางการเมืองและการเงินเพื่อสนับสนุนปฏิญญาคิกาลีว่าด้วยโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (Kigali Declaration on NTDs)
โธโก พูลลีย์ กรรมการบริหารของ Uniting to Combat NTDs กล่าวว่า "จากความสำเร็จของปฏิญญาลอนดอนว่าด้วยโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และการตระหนักถึงภูมิทัศน์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป เราจึงตั้งใจที่จะใช้วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยโลกในปีนี้เพื่อเป็นตัวเร่งการขับเคลื่อน เราได้เปิดตัวแคมเปญความมุ่งมั่น 100% ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่อจัดหาทรัพยากรสำหรับการรักษาโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และที่สำคัญอย่างยิ่งคือเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเป็นผู้นำทางการเมืองและความเป็นเจ้าของโครงการที่เกี่ยวข้องกับโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยจากประเทศที่ได้รับผลกระทบ ผ่านการรับรองและการสนับสนุนจากผู้ที่ลงนามเบื้องหลังปฏิญญาคิกาลีว่าด้วยโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยฉบับใหม่"
ด้วยความพยายามทางการทูตของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อให้วันดังกล่าวได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการร่วมกับประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกหลายประเทศ ทำให้วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยโลกได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2564 มกุฎราชกุมารแห่งอาบูดาบียังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความร่วมมือและการสนับสนุน วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยโลกผ่านโครงการ Reaching the Last Mile (RLM) ซึ่งเป็นโครงการด้านสุขภาพระดับโลกที่เน้นการเร่งความก้าวหน้าในการกำจัดโร ซึ่งขับเคลื่อนโดยความมุ่งมั่นส่วนพระองค์
นัซซาร์ อัล มูบารัค ผู้อำนวยการอาวุโสประจำราชสำนักมกุฎราชกุมารแห่งอาบูดาบีกล่าวว่า "วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยโลกถือเป็นตัวเร่งที่สำคัญในการแปลงความตระหนักไปสู่การปฏิบัติ โดยประชาชนทั่วไปไม่เพียงแต่จำเป็นต้องตระหนักรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเหล่านี้ แต่เหล่าผู้บริจาค ประเทศเฉพาะถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ต้องร่วมมือกันเพื่อยุติโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยในประเทศที่ได้รับผลกระทบ มีความก้าวหน้าอย่างมากในการยุติโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หนึ่งในห้าของผู้คนในชุมชนที่เปราะบางที่สุดทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบจากโรคที่ป้องกันและรักษาได้ เรามีความยินดีที่ได้เห็นวันนี้เป็นเวทีสำหรับการสร้างความตระหนักรู้ผ่านแคมเปญความมุ่งมั่น 100% และความพยายามต่าง ๆ เช่นการเปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ เราหวังว่าการเคลื่อนไหวนี้จะยังคงได้การตอบรับและช่วยจุดประกายความร่วมมือและพันธสัญญาใหม่ที่จำเป็นต่อการเอาชนะโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย"
โรคเขตร้อนที่ถูกละเลยเป็นกลุ่มของโรคติดต่อที่สามารถป้องกันและรักษาได้ แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 1.7 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นเด็กจำนวนกว่า 1 พันล้านคน และมี 20 โรคที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างมาก ทำให้ร่างกายทรุดโทรม พิการ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ โรคเขตร้อนที่ถูกละเลยสร้างวงจรของความยากจนและทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีค่าใช้จ่ายหลายพันล้านดอลลาร์ทุกปี
Post Views: 60