Update Newsประชาสัมพันธ์สังคม/CSR

กฟน. เปิดตัว MEA EV Application แอปเดียวจบ ครบทุกเรื่องควบคุมจัดการยานยนต์ไฟฟ้า

วันนี้ (26 กรกฎาคม 2561) นายวีรวัจน์ บัวทอง ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นประธานเปิดตัว MEA EV Application (เอ็ม อี เอ อีวี แอปพลิเคชัน) โดดเด่นด้วยนวัตกรรมควบคุมจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งดาวน์โหลดใช้งานได้แล้ววันนี้ รวมทั้งเปิดงานสัมมนาเตรียมความพร้อมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดยมีผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน ณ โรงแรมวินเซอร์ ถ.สุขุมวิท 20 กรุงเทพฯ




ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสที่ครบวาระ 60 ปี กฟน. ในปีนี้ กฟน. จึงมุ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่ทันสมัย ได้เตรียมความพร้อมรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทดแทนรถยนต์น้ำมันในอนาคต เนื่องจากเป็นพลังงานที่สะอาดและประหยัด 

ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 กฟน. ถือเป็นหน่วยงานแรกที่ริเริ่มนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในกิจการ ตลอดจนวิจัยและพัฒนา รวมทั้งผลักดันให้เกิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าขึ้นเป็นที่แรกในการไฟฟ้านครหลวงเขตต่าง ๆ จำนวนถึง 11 สถานี และจะครอบคลุมทุกที่ทำการ เร็วๆ นี้ 

โดย กฟน. พร้อมเดินหน้าเป็นผู้นำในการควบคุมจัดการระบบให้บริการที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อมาใช้กำกับดูแลและกำหนดหลักเกณฑ์ในการเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายไฟฟ้าในการสนับสนุนภาคธุรกิจส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทให้มีความเพียงพอ มั่งคง ปลอดภัย และเพื่อให้การบริการเกี่ยวกับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร





กฟน. จึงจัดทำ “MEA EV Application” ใช้งานสะดวกสบายบนสมาร์ทโฟน เวอร์ชันล่าสุด 2.0 รองรับการใช้งานทั้งระบบ IOS และ Android สำหรับการค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้าการจองหัวชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ มีระบบนำทางไปยังสถานีชาร์จพร้อมควบคุมการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าผ่านระบบรีโมทด้วยแอปพลิเคชันทันที การแจ้งข้อมูลประวัติการชาร์จ การคำนวณอัตราการประหยัดพลังงาน รวมถึงฟังชันอื่นๆ ที่จะจัดทำเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกในอนาคต 

อีกทั้ง กฟน. ยังร่วมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องหลายราย ถือเป็นความร่วมมือกับองค์กรภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นจริงในประเทศ





ภายในงานยังได้มีการจัดสัมมนาการเตรียมความพร้อมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ให้แก่ผู้ประกอบการผู้ผลิต และจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ กฟน. ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าได้ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้อีกด้วย 

โดยมีการให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มาตรฐานการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า พร้อมทั้งการชี้แจงระเบียบการไฟฟ้านครหลวง ว่าด้วยการขอใช้ไฟฟ้าสถานีอัดประจุไฟฟ้า พ.ศ.2561 เพื่อให้รับทราบข้อมูลขั้นตอนและแนวทางดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของ กฟน. ในการเดินหน้าสู่ผู้นำส่งเสริมธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 

เพื่อเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) และประเภทแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ทั่วประเทศตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ภายในปี พ.ศ. 2579