Update Newsสังคมสังคม/CSRสาธารณสุข

กรมคร.ประชุมวิชาการด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมฯ และนานาชาติครั้งที่ 3

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมประชุมวิชาการด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “The Future of Occupational Health and Environment: Enhancing Innovation and Practice ก้าวสู่นวัตกรรม นำสู่การปฏิบัติ ยกระดับงานอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม”

วันนี้ (15 มีนาคม 2566) ที่โรงแรม รามาการ์เด้นส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และนานาชาติ ครั้งที่ 3 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมงาน

นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า โรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง เป็นหนึ่งในปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศที่ก่อให้เกิดความสูญเสียด้านคุณภาพชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบอาชีพ         

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า มีประชาชนที่เป็นผู้ทำงานทั้งสิ้นจำนวน 37.7 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ จำนวน 19.6 ล้านคน และแรงงานในระบบ จำนวน 18.1 ล้านคน ซึ่งกลุ่มวัยแรงงานเป็นกลุ่มที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การดูแลสุขภาพวัยแรงงานและการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัย รวมถึงการจัดการปัญหาด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

“อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นการรับมือกับปัญหาดังกล่าว   การดูแลสุขภาพคนวัยทำงาน และการดูแลการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการมีกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งกรมควบคุมโรคมีพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 เพื่อคุ้มครองสุขภาพแรงงานและประชาชนให้ได้รับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายแพทย์ธเรศ กล่าว



 

ด้านแพทย์หญิงหรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการเป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญทางวิชาการด้านการป้องกันและควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล จำเป็นต้องพัฒนางานวิชาการ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับเครือข่ายทั้งหน่วยงานสาธารณสุข สถาบันการศึกษา สถานประกอบกิจการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ได้สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับนานาประเทศ ผ่านองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment) ที่มีการดำเนินการภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศ ความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียนด้านสาธารณสุขภายใต้ประเด็นสุขภาพสำคัญ (ASEAN Health Cluster) อีกทั้งความร่วมมือด้านวิชาการแบบภาคสมัครใจกับ Asian Occupational Safety and Health Research Institute (AOSHRI)

 

 

 

 

ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะเป็นกลไกอันสำคัญที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ เสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีพิธีมอบโล่รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการป้องกันควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมระดับชาติ 1 รางวัล รางวัลบุคลากรและองค์กรดีเด่น 4 รางวัล โล่รางวัลสถานประกอบการปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข 58 แห่ง และต้นแบบศูนย์สุขภาพดีวัยทำงานในสถานประกอบกิจการ ระดับประเทศ จำนวน   24 แห่ง รวมถึงรางวัลการนำเสนอผลงานวิชาการดีเด่น เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ และสร้างต้นแบบสถานประกอบกิจการในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมของคนทำงานในประเทศไทยต่อไป