“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 9 พฤศจิกายน 2565 มีรายงานผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศ 34,257 ราย เสียชีวิต 24 ราย กลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุด คือ 5-14 ปี รองลงมา 45-54 ปี และผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไป ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการไข้อย่างเฉียบพลัน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อหรือกระดูก ปวดกระบอกตา หรือมีผื่น ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้แก่ มีโรคประจำตัว ร้อยละ 58.8 ได้รับยา NSAIDs ร้อยละ 29.4 และน้ำหนักเกิน ร้อยละ 23.5 ตามลำดับ”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้อาจพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากสัปดาห์นี้เกิดฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักในบางพื้นที่ ทำให้มีขังน้ำตามภาชนะต่างๆ เช่น ฝาขวด แก้วพลาสติก ถุงพลาสติก เศษกระถาง ซึ่งเป็นที่ที่ยุงลายชอบวางไข่ ไข่ของยุงลายจะยึดติดแน่นกับของผิวภาชนะเหนือระดับน้ำเล็กน้อย สามารถอยู่ได้นานเป็นปี เมื่อมีน้ำท่วมถึงสามารถฟักตัวเป็นระยะตัวเต็มวัยในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ และเมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้น ยุงลายตัวเต็มวัยจะออกหากินในช่วงกลางคืนมากขึ้น
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด และไม่ให้ยุงเกิด ด้วยวิธีนอนในมุ้ง อยู่ในห้องติดมุ้งลวด ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ทาโลชั่นกันยุง ใช้ยาจุดกันยุง ปฏิบัติตามหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก จัดเก็บเสื้อผ้าใส่ตู้ให้เป็นระเบียบ เก็บขยะ เศษภาชนะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ จำพวกเศษภาชนะวัสดุที่ทิ้งกระจาย รอบๆ บ้าน เช่น กะลา กระป๋อง ถุงพลาสติก ควรเก็บทิ้งหรือถมดินไม่ให้น้ำขัง ยางรถยนต์เก่าสามารถดัดแปลงนำมาใช้ประโยชน์หรือขายให้สถานประกอบการ และเก็บแหล่งน้ำ ปิดให้มิดชิด เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ภาชนะขังน้ำขนาดเล็กหมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกันดอกไม้สด แจกันหิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ ขวดเลี้ยงพลูด่าง ไม้ประดับ ใส่ทรายธรรมดาในจานรองกระถางต้นไม้ให้ดูดซับน้ำ
ทั้งนี้ ประชาชนควรสังเกตอาการของตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังหากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ไข้นานเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นที่ผิวหนังตามแขน ขา ข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ไม่ซื้อยากินเอง เนื่องจากยาประเภท NSAIDs หรือ Steroid ทำให้มีอาการรุนแรงและเลือดออกมากขึ้น รักษายากขึ้น ผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตได้ สำหรับร้านขายยาและคลินิก ควรแนะนำให้ผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออกให้ไปรักษาที่โรงพยาบาล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422”
Post Views: 29