กรมควบคุมโรค จับมือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมป้องกันควบคุมโรคในเด็กปฐมวัย
ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ (12 ธันวาคม 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อผลักดันนโยบายการบูรณาการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อในกลุ่มเด็กปฐมวัย (อายุต่ำกว่า 6 ปี) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันควบคุมโรคติดต่อในเด็กแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ มีเป้าหมายให้เด็กปลอดโรค มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมาะสมตามวัย เป็นพลเมืองที่สุขภาพดี มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม และเด็กทุกคนได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า เด็กถือว่าเป็นกลุ่มวัยที่มีความสำคัญ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ หากเด็กเล็กป่วยและไม่ได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มต้น อาจส่งผลทำให้มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประชากรเด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี จำนวนประมาณ 4 ล้านคน จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา ปี 2561 โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในเด็กปฐมวัย เช่น โรคมือเท้าปาก ไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วง เป็นต้น พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 60,422 ราย (อัตราป่วย 1,765 ต่อแสนประชากร) และมีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ย ปีละ 3 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 0-2 ปี (58.49%) รองลงมาคือ 3-5 ปี (33.09%) ภาคเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ และจากการเฝ้าระวังเหตุการณ์ระบาด มีรายงาน 61 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่เกิดในโรงเรียนอนุบาล 37 เหตุการณ์ (ร้อยละ 61) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 19 เหตุการณ์ (ร้อยละ 31) และในชุมชน 5 เหตุการณ์ (ร้อยละ 8) แนวโน้มพบผู้ป่วยและอัตราป่วยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เด็กยังเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ โดยในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบผู้ป่วยจำนวน 44,029 ราย (อัตราป่วย 1,286 ต่อแสนประชากร) และมีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ยปีละ 2 ราย และพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 267,934 ราย (อัตราป่วย 7,827 ต่อแสนประชากร) และมีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ยปีละ 3 ราย
ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพเด็กปฐมวัยด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายและทุกระดับ รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายและถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ สามารถบริหารจัดการงบประมาณ และผลักดันนโยบายการบูรณาการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อในกลุ่มเด็กปฐมวัย เข้าสู่แผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครองเด็ก ประชาชน มีความใส่ใจและให้ความสำคัญกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาปรับปรุงด้วยความตระหนักในการเป็นเจ้าของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและชุมชนอย่างยั่งยืน
กรมควบคุมโรค และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ มีการบรรยาย อภิปราย และประชุมกลุ่มระดมความคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อในเด็กแบบบูรณาการ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เกิดกลไกการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้กรอบการบูรณาการพัฒนาศักยภาพคนตามช่วงวัย (กลุ่มเด็กปฐมวัย) โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง
ผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารหรือผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 76 แห่ง เจ้าหน้าที่จากสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด กรมอนามัย มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ผู้รับผิดชอบงานโรคติดต่อจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค รวม 350 คน