กรมควบคุมโรค ต่อยอด พชพ. เน้นการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความยั่งยืนระบบสุขภาพประชาชน
กรมควบคุมโรค ต่อยอดการพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ระดับพื้นที่ ผ่านการบูรณาการประสานความร่วมมือของทุกภาคระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคเอกชน ผ่านกลไก พชพ. เน้น “ใช้พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ประชาชนมี ส่วนร่วมตั้งเป้าหมายการพัฒนา มุ่งจัดการแบบองค์รวม 4 มิติ หวังสร้างความมั่นคง ยั่งยืนแก่สุขภาพของประชาชน วันนี้ (10 พฤษภาคม 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ (พชพ.) พ.ศ. 2561” เมื่อวันที่ 7 - 8 พ.ค. 61 ที่ผ่านมา ที่จังหวัดนครราชสีมา คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ (พชพ.) ที่ตั้งขึ้นนี้เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ พ.ศ. 2561 เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ ซึ่งครบกำหนด 60 วันภายหลังประกาศลงใน ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 61 โดยมีแนวทางการดำเนินการหลักคือ 1. สร้างจุดจัดการสุขภาพระดับพื้นที่ ระดับอำเภอ และเขต และมุ่งเน้นทำงานโดยเครือข่ายแบบประชารัฐ 2. ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาโดยอาศัย “ภาวะนำร่วม บูรณาการ และมีส่วนร่วม” และ 3. มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นเป้าหมายสูงสุด ใช้การมีสุขภาพดีเป็นพื้นฐาน ด้วยการจัดการแบบองค์รวม 4 มิติทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและ จิตวิญญาณ ประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถพึ่งตนเองได้ และที่สำคัญต้องปรับกลวิธีการการดำเนินงานให้เหมาะสมกับสภาพความต้องการของพื้นที่ นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ระบบสุขภาพในปัจจุบัน มุ่งเน้นการป้องกันโรคมากกว่าการแก้ไขปํญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งการดำเนินงานป้องกัน ควบคุมโรคระดับอำเภอที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะมีการกระจายอำนาจ และสร้างความร่วมมือของทีมงานทั้งในส่วนกลาง เขต ภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชน และภาคเอกชน ร่วมกันวิเคราะห์เหตุปัจจัยของปัญหาสุขภาพ เพื่อการปรับเปลี่ยนแนวทาง รูปแบบ วิธีการ เครื่องมือ โดยใช้เทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาสมรรถนะของทีมงานประชารฐในพื้นที่นั้นๆ โดยในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในครั้งนี้ได้มี การวิเคราะห์ กรอบแนวทางการพัฒนา 3. ประเด็นหลัก เพื่อสนับสนุน พชพ. ได้แก่ 1. การคืนข้อมูล 2. ชี้เป้าปัญหา และ3.ให้คำปรึกษา คำแนะนำแก่พื้นที่ (PP Information) หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422