กรมควบคุมโรค ยันไทยไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่
(สธ.กทม 6 เม.ย.2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่ามีเด็กหญิงเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรานั้น กรมควบคุมโรค ขอยืนยันว่าปัจจุบันประเทศไทยไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ นอกเหนือจาก 4 สายพันธุ์ที่เคยพบมาแล้ว ส่วนในกรณีผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวนั้น จากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่าเป็นผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ดังกล่าวจริง โดยได้ทำการสอบสวนและควบคุมโรคแล้ว พบว่าผู้เสียชีวิตมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง และมีภาวะอ้วนร่วมด้วย แต่ไม่ได้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งในแถบประเทศอาเซียนนี้ พบโรคไข้เลือดออกได้ 4 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความรุนแรงไม่แตกต่างกันมาก ส่วนอาการป่วยขึ้นอยู่กับว่าเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกอาการมักไม่รุนแรง อาจมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่อาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองด้วยสายพันธุ์ที่ต่างไป ซึ่งจะทำให้มีภาวะเลือดออกและช็อกได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคไข้เลือดออกถือเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศแถบอาเซียน สำหรับในประเทศไทย ปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 เมษายน 2562 พบผู้ป่วยสะสมรวม 13,677 ราย เสียชีวิต 15 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคืออายุ 10–14 ปี และ 7-9 ปี ตามลำดับ ซึ่งเป็นกลุ่มในวัยเรียนและวัยรุ่น และแม้ว่าในช่วงนี้จะเป็นช่วงหน้าร้อนก็ตาม แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว อาจทำให้ในบางพื้นที่เกิดฝนตกได้ ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ รวมถึงภาชนะที่ใช้เก็บกักน้ำในบ้าน ก็เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย สาเหตุของโรคไข้เลือดออกเช่นกัน
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ควรร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเน้นใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” อย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ขัดล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.ไข้ปวดข้อยุงลาย
ที่สำคัญประชาชนควรเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า กำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะน้ำใส นิ่ง 2.การเฝ้าระวังอาการของโรค คือไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ผิวหนังเป็นจุดเลือด อาเจียน ปวดท้อง และ 3.การไปพบแพทย์เร็วเมื่อป่วยและมีไข้สูง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรค และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงไข้ลดหากเกิดอาการช็อกจากไข้เลือดออก ต้องรีบกลับไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422