Update Newsสังคมสังคม/CSRสาธารณสุข

กรมควบคุมโรค เตือนสูบบุหรี่มวนเดียวกันเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนผู้ติดเชื้อโควิด 19 ห้ามสูบบุหรี่หรือบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ ทุกรูปแบบ ขณะเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสนาม และศูนย์แยกกักในชุมชนทุกแห่ง พร้อมขอเชิญชวนให้ผู้สูบบุหรี่ใช้โอกาสนี้ เลิกสูบอย่างถาวร สามารถเข้ารับบริการที่สายด่วนเลิกบุหรี่แห่งชาติโทร. 1600 ฟรี เผยการสูบบุหรี่   มวนเดียวกัน เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 มากถึง 3.47 เท่า ระบุผลดีการเลิกสูบบุหรี่ช่วยลดความรุนแรงจากอาการติดเชื้อโควิด 19

วันนี้ (31 สิงหาคม 2564) นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ป้องกันการเกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ และลดจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ให้ได้มากที่สุด ทั้งการฉีดวัคซีนป้องกัน และมาตรการป้องกันส่วนบุคคล คือ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง งดการร่วมกิจกรรมกลุ่มทุกประเภทแล้ว 

แต่จุดที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือ พฤติกรรมการสูบบุหรี่หรือบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค   โควิด 19 โดยการสูบบุหรี่มวนเดียวกัน เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 มากถึง 3.47 เท่า

นายแพทย์ขจรศักดิ์ กล่าวว่า การเลิกสูบบุหรี่ทุกชนิด จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มขึ้น และควรใช้ สถานการณ์ความรุนแรงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เลิกสูบ ทั้งนี้สามารถขอรับบริการช่วยเหลือได้ 2 ช่องทาง คือสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน และ 2.ขอรับคำปรึกษาที่ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ โทร.ฟรี 1600   

ด้านนายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวเสริมว่า ขอความร่วมมือไปยังผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ยังสูบบุหรี่ ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในบริเวณโรงพยาบาลสนาม (Hospitel), ศูนย์แยกกักในชุมชน (CI) ที่เป็นสถานที่ราชการ หรือสถานที่เอกชน หรือสถานศึกษาหรือสนามกีฬา รวมถึงสถานที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน 

ซึ่งเป็นพื้นที่ ปลอดบุหรี่ทั้งหมด หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในการปฏิบัติตามกฎหมายได้ที่ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร. 02 590 3852 #เลิกสูบลดเสี่ยง คุณทำได้