Update News

กรมควบคุมโรค ร่วมกับ สพฐ. เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในกลุ่มเด็ก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สพฐ. เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในกลุ่มเด็ก ตามแนวทางและมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลายเชิงรุกในโรงเรียน เผยปีนี้ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในกลุ่มเด็ก แนะครู เจ้าหน้าที่ของโรงเรียน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และประชาชน ร่วมทำความสะอาดโรงเรียนหรือสถานศึกษา สำรวจและกำจัดภาชนะเสี่ยงและแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงเรียน พร้อมปฏิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

วันนี้ (10 มิถุนายน 2563) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะในโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่อยู่ในช่วงปิดภาคเรียน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน กรมควบคุมโรค จึงขอให้ครู เจ้าหน้าที่ของโรงเรียน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และประชาชนร่วมทำความสะอาดโรงเรียนหรือสถานศึกษา ทำให้สิ่งแวดล้อมปลอดโปร่ง พร้อมทั้งสำรวจและกำจัดภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงเรียน

จากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 2 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 15,385 ราย เสียชีวิต 11 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุ 5–14 ปี จำนวน 5,828 ราย คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด และเสียชีวิต 4 ราย สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตมาจากการเข้ารับการรักษาช้า การติดเชื้อร่วมกับโรคอื่น และมีภาวะอ้วน ทั้งนี้ จากผลการประเมินค่าความชุกของลูกน้ำยุงลายในโรงเรียน พบว่าในเดือนพฤษภาคม 2563 ค่า CI อยู่ระหว่าง 1.61 – 6.04 ซึ่งยังเกินค่ามาตรฐาน (ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายมาตรฐานต้องเป็นศูนย์ : CI=0) จากการสำรวจภาชนะที่พบลูกน้ำส่วนใหญ่ ได้แก่ ภาชนะที่ไม่ใช้แล้ว ร้อยละ 11.29 จานรองกระถางต้นไม้ ร้อยละ 13.89 ยางรถยนต์เก่า ร้อยละ 17.65 ตามลำดับ

ในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน และรับฤดูการระบาดของโรคไข้เลือดออก กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาแนวทางการจัดการเรียนรู้โรคติดต่อนำโดยยุงลาย และขอความร่วมมือกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนทั่วประเทศปรับใช้แนวทางดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการสอนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ให้เกิดการรับรู้ เข้าใจ ปรับใช้ในการป้องกันและลดอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในกลุ่มเด็กต่อไป และขอความร่วมมือครูประจำชั้นจัดเวรนักเรียนสำรวจลูกน้ำ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ตามภาชนะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอความร่วมมือดำเนินการตามแนวทางและมาตรการการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลายเชิงรุกในโรงเรียน โดยก่อนเปิดภาคเรียนและช่วงปิดภาคเรียน ครู เจ้าหน้าที่ของโรงเรียน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และประชาชน ร่วมกันทำความสะอาดโรงเรียน สถานศึกษา กำจัดขยะ เก็บกวาดเศษใบไม้/ทำให้สิ่งแวดล้อมปลอดโปร่ง พร้อมทั้งสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงเรียนทุกสัปดาห์จนเปิดภาคเรียน และให้มีผู้รับผิดชอบติดตามผลการดำเนินงาน

โดยก่อนเปิดภาคเรียนหนึ่งสัปดาห์ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายต้องเป็นศูนย์ (CI=0) ในกรณีที่มียุงจำนวนมาก ควรฉีดพ่นกำจัดยุงตัวเต็มวัยก่อนเปิดภาคเรียนหนึ่งสัปดาห์ สำหรับระหว่างเปิดเรียน มอบหมายให้นักเรียนจัดตารางเวรสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ และติดตามผลการดำเนินงานทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) การจะเข้าโรงเรียน/สถานศึกษา ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และจัดกิจกรรมโดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เป็นต้น มีการตรวจวัดอุณหภูมิและคัดกรองนักเรียนและบุคลากรก่อนเข้าเรียน เพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคติดต่อนำโดยยุงลาย และโรคโควิด 19 ด้วย

ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนดำเนินตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้านเก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีจุดแดงที่ผิวหนัง ตับโต อาจกดเจ็บบริเวณชายโครงขวา ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรับการรักษา หากมีอาการรุนแรงจนเกิดภาวะช็อกอาจเสียชีวิตได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422