กรมควบคุมโรค ร่วมปรับภาพลักษณ์ใหม่ “งานบุญบั้งไฟ ไร้น้ำเมา”
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมการบูรณาการแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนใน ต.โนนเปือย อ.กุดชุม จ.ยโสธร เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ในงานประเพณี “งานบุญบั้งไฟ ไร้น้ำเมา” เริ่มดำเนินการในปีนี้เป็นปีแรก โดยชุมชนได้มีการบรรจุเรื่องของการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในธรรมนูญสุขภาพ ตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างสุขภาพทั้งทางกายและใจที่ดีของประชาชนในชุมชน เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าร่วมกิจกรรมงานประเพณีบุญบั้งไฟปลอดเหล้า ที่จัดโดยตำบลโนนเปือย อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร โดยแนวคิดริเริ่มจากผู้บริหารส่วนตำบลและคณะกรรมการในพื้นที่บูรณาการร่วมกัน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนี้พื้นที่เริ่มดำเนินการในปีนี้เป็นปีแรก เพื่อรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม และส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน และสิ่งเสพติด โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายจารุวัฒน์ ภูแก้ว นายอำเภอกุดชุม ประธานเปิดงาน พร้อมนายประสาท กองศรีมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเปือย และผู้แทนจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ร่วมสร้างสีสันให้บริเวณการจัดงานครึกครื้นและสนุกสนาน สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในฐานะหน่วยงานส่วนกลาง มีความยินดีอย่างยิ่งที่พื้นที่ร่วมกันปฏิบัติตามกฎหมายและบรรจุเรื่องของการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่ธรรมนูญสุขภาพในชุมชน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่านอกจากเรื่องของโทษ พิษ ภัยทางสุขภาพแล้ว เรื่องการใช้จ่ายในการจัดงานบุญหรืองานประเพณีหากมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้องย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งนี้ กิจกรรมงานบุญบั้งไฟปลอดเหล้านี้เป็นมิติใหม่ที่ต่อยอดจากงานศพปลอดเหล้าหรืองานบุญทั่วไปปลอดเหล้า ซึ่งเป้าหมายสูงสุดก็เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีทั้งทางกายและทางใจ รวมถึงเศรษฐกิจที่ดีในครัวเรือนด้วย ด้านนายประสาท กองศรีมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเปือย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายคณะกรรมการทุกคนในทีม เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่างานบั้งไฟนั้นเป็นประเพณีที่มีทั้งการพนัน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาโดยตลอด จนกลายเป็นภาพสัญลักษณ์ที่ผิดมาช้านาน แต่ความท้าทายดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะหากต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สุขภาพและประชาชนในพื้นที่เกิดประโยชน์จากการจัดกิจกรรมจึงต้องเกิดก้าวแรกขึ้น ซึ่งในส่วนของชุมชนได้มีการบรรจุเรื่องของการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในธรรมนูญสุขภาพตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยในปีนี้ได้เพิ่มเรื่องของประเด็นการส่งต่อเพื่อบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย