Update Newsสังคมสังคม/CSRสาธารณสุขสุขภาพ

กรมควบคุมโรค ร่วมเครือข่ายกับประเทศสมาชิก MBDS แลกเปลี่ยนมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 และการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร

กรมควบคุมโรค ร่วมกับประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง (MBDS) แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์และมาตรการสำหรับการป้องกันควบคุมโควิด 19 ล่าสุด พบขณะนี้จำนวนผู้ป่วยอยู่ในช่วงขาลง เน้นวัคซีนให้ครอบคลุม โดยเฉพาะวัคซีนเข็มกระตุ้น พร้อมเปิดประเทศด้วยความปลอดภัย ยึดสุขภาพสมดุลเศรษฐกิจ ส่วนโรคฝีดาษวานร สมาชิกเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทย นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร Mekong Basin Disease Surveillance (MBDS) พร้อมด้วย สัตวเเพทย์หญิงเสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะที่ปรึกษา เปิดการประชุมผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังโรคกลุ่มประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง หรือ Mekong Basin Disease Surveillance (MBDS) โดยมี 5 ประเทศเข้าร่วมประชุม ได้แก่ กัมพูชา จีน ลาว ไทย และเวียดนาม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์โควิด 19 และมาตรการล่าสุดที่แต่ละประเทศใช้ในการป้องกันควบคุมโรค เเละแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรจากต่างประเทศ


นายเเพทย์โสภณ กล่าวว่า ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้น ขณะนี้มี 4 ประเทศ (กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม) ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านของโควิด 19 จากระยะโรคระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่น โดยมีมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ที่เหมือนกัน คือ การรณรงค์เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้น



 โดยเฉพาะวัคซีนเข็มกระตุ้นในประชากรกลุ่มเสี่ยง เพื่อการป่วยหนักและเสียชีวิต นำไปสู่การเปิดประเทศอย่างปลอดภัยโดยยึดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสุขภาพ ส่วนมาตรการเตรียมพร้อมรับมือโรคฝีดาษวานรจากต่างประเทศ มีการคัดกรองนักเดินทางต่างชาติ สื่อสารความเสี่ยงและการให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน และจัดการอบรมบุคลากรสาธารณสุขในการประเมินความเสี่ยง การเฝ้าระวังผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร และเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวินิจฉัยโรค

 ซึ่งประเทศไทยได้เสนอสถานการณ์โรคฝีดาษวานรที่กำลังระบาดในยุโรป และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดทำบัตรแนะนำสุขภาพ (Health Beware Card) สำหรับโรคฝีดาษวานรใช้สำหรับแจกให้นักท่องเที่ยวที่ลงจากเครื่องบิน ที่สนามบินนานาชาติในประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักในการเฝ้าระวังโรค เเละสร้างการมีส่วนร่วมรายงานอาการตนเองได้

 

หากมีอาการป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร คือ มีไข้ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น กระจายที่แขนขา ลำตัว ใบหน้าและบริเวณอวัยวะเพศ และรับคำแนะนำในการตรวจรักษา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโอกาสของความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์และแนวทางการดำเนินงานของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง