กรมควบคุมโรค ลดการตีตราผู้ป่วยโรคเรื้อน ย้ำโรคเรื้อนติดยาก รักษาง่าย อยู่ร่วมกันได้แม้ร่างกายพิการ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาร่วมใจ ลดการตีตรา นำพาสู่สังคม เนื่องในวันราชประชาสมาสัย วันที่ 16 มกราคมของทุกปี เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสร้างความตระหนัก ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเรื้อน นำไปสู่การค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่อย่างรวดเร็วก่อนที่จะเกิดความพิการ เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ลดความพิการ และผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติอีกด้วย วันนี้ (16 มกราคม 2561) ที่สถาบันราชประชาสมาสัย อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ นายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยศาตราจารย์นายแพทย์ธีระ รามสูต ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายแพทย์อาจินต์ ชลพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชประชาสมาสัย และนางสาวทัศนีย์ ศรศิริ อดีตผู้ป่วยโรคเรื้อน ร่วมกิจกรรม “ประชาร่วมใจลดการตีตรา นำพาสู่สังคม” ภายในงานมีกิจกรรมกล่าวน้อมรำลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 การเสวนาในหัวข้อ “ลดการตีตรา นำพาสู่สังคม” พิธีมอบโล่แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ และองค์กรดำเนินงานด้านโรคเรื้อนดีเด่น การจัดแสดงนิทรรศการ 100 ปี การสาธารณสุขไทย มั่นใจในการควบคุมโรคเรื้อน และกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ อาทิ ตรวจสุขภาพ ตรวจคัดกรองเบาหวาน ตรวจสมรรถภาพสายตา และตรวจสุขภาพช่องปาก นายแพทย์สมบัติ กล่าวว่า ในอดีตโรคเรื้อน เป็นโรคที่ได้รับความรังเกียจจากสังคมอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยในสมัยก่อนไม่สามารถประกอบอาชีพหรืออาศัยอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ หลังจากกรมสาธารณสุข เปลี่ยนมาเป็นกรมอนามัย ได้มีการจัดตั้ง กองควบคุมโรคขึ้น เพื่อรับผิดชอบดูแลในงานด้านโรคเรื้อน หลังจากนั้นเริ่มมีโครงการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในส่วนภูมิภาคจนทำให้สามารถควบคุมโรคเรื้อนได้ แต่ถึงแม้การควบคุมโรคเรื้อนจะประสบความสำเร็จอย่างมาก การค้นพบผู้ป่วยรายใหม่มีอัตราความชุกลดลง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การตีตราต่อผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อน และความรู้ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเรื้อน ซึ่งความจริงแล้วโรคเรื้อน เป็นโรคที่รักษาหาย การกินยาเพียงครั้งแรก สามารถฆ่าเชื้อโรคเรื้อนได้ 99% และติดต่อได้ยาก เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อเพียงร้อยละ 3 และคนที่มีภูมิต้านทานต่อโรคเรื้อนผิดปกติเท่านั้นที่จะเป็นได้ ด้านนายแพทย์ธีระ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ซึ่งตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันราชประชาสมาสัย ผลงานที่กำลังดำเนินการในขณะนี้คือการจัดตั้งชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อนและครอบครัว และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเรื้อน มูลนิธิเล็งเห็นความสำคัญของการเร่งรัดค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ จึงได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ รายละ 2,000 บาท โดยจ่ายให้กับผู้ป่วยทั้งหมดหากเกิดความตระหนักและมาแสดงตัวรับการรักษาด้วยตนเอง และหากมีผู้นำพามารับการรักษา ผู้นำพาจะได้รับ 1,000 บาท และผู้ป่วยได้รับ 1,000 บาท ส่วนนายแพทย์อาจินต์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยสามารถกำจัดโรคเรื้อนจนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วน ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยที่หลบซ่อนหรือไม่รู้ว่าตนเองป่วยได้รับการตรวจ รักษาจนหายขาด ผู้พิการได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ถึงแม้ปัญหาเรื่องความชุกของโรคเรื้อนลดลง สัดส่วนผู้ป่วยใหม่ที่มีความพิการยังไม่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่างร้อยละ 10-17 และจากรายงานผู้ป่วยค้นพบใหม่ปี 2559 พบว่าระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มปรากฏอาการจนถึงเวลาเข้ารับการตรวจรักษามีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2 ปี 1 เดือน ซึ่งเป็นเวลาที่นานเกินกว่าค่าความคาดหวังที่ต้องการให้ผู้ป่วยมารับการรักษา โดยทางทฤษฎีถือว่าระยะเวลาที่นานเกิน 1 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการ ซึ่งเมื่อพิการก็จะนำไปสู่การถูกตีตรา ส่งผลต่อเนื่องทางด้านจิตใจ สังคม เศรษฐกิจ ทำให้คุณภาพชีวิตลดน้อยถอยลง จากผลการวิจัยการตีตราในผู้ป่วยโรคเรื้อน ปี 2554 ที่จังหวัดชัยภูมิ พบว่าผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อน ถูกตีตราจากคนในชุมชนเกินร้อยละ 80 สาเหตุมาจากประชาชนขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเรื้อน อีกทั้งยังมีความเชื่อผิดๆต่อการเกิดโรคเรื้อน นำไปสู่การรังเกียจและเลือกปฏิบัติต่อผู้ประสบปัญหาโรคเรื้อนรวมถึงครอบครัวของเขาด้วย หากประชาชนสงสัยว่าตนเองเป็นโรคเรื้อน หรือสังเกตเห็นผิวหนังเป็นวงด่าง ชา ผื่น หรือตุ่มแดง ไม่คัน ใช้ยากิน ยาทานานเกิน 3 เดือนแล้วยังไม่หาย ให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย ยิ่งเริ่มการรักษาได้เร็วเท่าไหร่ ความเสี่ยงในเรื่องของความพิการก็ยิ่งลดน้อยลง ส่งผลให้การตีตราลดตามไปด้วย ถ้าคนในสังคมมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าโรคเรื้อนเป็นโรคที่ติดต่อได้ยาก ถ้าเป็นก็รักษาให้หายได้ รวมทั้งสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ การให้กำลังใจให้โอกาส จะทำให้ผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขต่อไป