กรมควบคุมโรค ชวนทำบุญวิถีพุทธ หยุดยุงลายในวัด ลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในวันมาฆบูชา
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนประชาชนที่จะเข้าไปทำบุญในวัดเนื่องในวันมาฆะบูชาที่จะถึงนี้ ขอให้ช่วยกันสร้างอนามัยสิ่งแวดล้อมด้วยการไม่นำขยะมาเพิ่มให้วัดอันจะก่อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามมา พร้อมทั้งช่วยสำรวจและกำจัดลูกน้ำยุงลายตามแหล่งน้ำขัง เพื่อไม่ให้ยุงลายมารบกวนพระขณะประกอบกิจของสงฆ์ เป็นการป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย และเป็นสร้างบุญอีกทางหนึ่งด้วย วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ประชาชนชาวไทยเชื้อสายพุทธส่วนใหญ่ จะเข้าวัดทำบุญตักบาตร ซึ่งวัดเป็นศูนย์กลางทางด้านจิตใจของชาวพุทธ และภายในบริเวณวัดอาจมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยโปรแกรมทันระบาดของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 27 มกราคม 2565 พบว่า “วัด” เป็นสถานที่ที่มีการพบลูกน้ำยุงลายเป็นอันดับ 2 รองจากสถานศึกษา คือพบร้อยละ 29.0 อยู่ในระดับสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ประกอบกับหลักคำสอนทางพุทธศาสนาให้ผู้ถือศีลละเว้นการฆ่าสัตว์ จึงไม่ใช่กิจของสงฆ์ที่จะกำจัดลูกน้ำยุงลาย จำเป็นต้องมีการรณรงค์สร้างความตระหนักให้แก่ผู้ที่เข้ามาทำบุญให้มีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการเกิดยุงลาย ไม่สร้างขยะซึ่งจะก่อให้เกิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และอีกส่วนหนึ่งคือ การให้ประชาชนเป็นอาสาที่จะช่วยดูแลกำจัดลูกน้ำและแหล่งที่วางไข่ของยุงลายในวัด จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวพุทธ ร่วมลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายช่วงวันวันมาฆะบูชา โดยการทำบุญวิถีพุทธ หยุดยุงลายในวัด เพื่อเป็นการสร้างบุญด้วยกิจกรรมที่ประชาชนช่วยกันทำให้วัด และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เป็นแบบอย่างให้กับประชาชนโดยทั่วไป รวมไปถึงชุมชนอื่นๆ ด้วย สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยในปี 2564 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยจำนวน 9,956 ราย เสียชีวิต 6 ราย ส่วนในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2565 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 305 ราย โดยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบจังหวัดมีผู้ป่วยมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรปราการ ชลบุรี และคาดการณ์ว่าปีนี้สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกจะมีการระบาดมากขึ้นตามวงรอบของปีที่จะระบาด และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น จากการสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในภาชนะขังน้ำในพื้นที่ 7ร. ได้แก่ โรงเรือน (บ้าน) โรงเรียน โรงพยาบาล โรงธรรม (วัด,มัสยิด,โบสถ์) โรงแรม/รีสอร์ท โรงงาน และสถานที่ราชการ ด้านนายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี เป็นช่วงสำคัญของการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก หรือเรียกว่าช่วงเวลาทอง (Golden Period) หากทำการกำจัดลูกน้ำยุงลายในช่วงที่ยังมีการระบาดไม่มากและจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดีไม่เป็นที่วางไข่ของยุงลายได้ จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่อาจเกิดมากขึ้นในช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม-สิงหาคม) สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออก ขอให้ยึดหลัก เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะบริเวณรอบบ้าน และ เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคโควิด 19 ขอให้ประชาชนสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน โดยให้เลือกทานยาแก้ไข้พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการทานยากลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโครฟิแนก เพราะถ้าเป็นไข้จากโรคไข้เลือดออก ยากลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร ส่งผลทำให้การรักษายุ่งยากและอาจทำให้อาการหนักมากขึ้น หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการวินิจฉัยโรคหาสาเหตุว่าเกิดจากโรคอะไรและรับการรักษาต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422