Update News

กรมควบคุมโรค เดินหน้าปรับระบบคัดกรองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศสนามบินดอนเมือง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าพัฒนาระบบคัดกรองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้พัฒนากระบวนการคัดกรอง ส่งผลให้ผู้เดินทางได้รับความสะดวก รวดเร็ว และลดระยะเวลารอคอยเหลือ 2-3 นาทีต่อคน หรือเร็วขึ้นประมาณ 5 เท่า ทำให้โครงการดังกล่าวได้รับรางวัลผลงานคุณภาพ ประจำปี พ.ศ.2561 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ
 





วันนี้ (6 ตุลาคม 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า 1 ใน 9 รางวัลผลงานคุณภาพ ประจำปี พ.ศ.2561 ที่กรมควบคุมโรคได้รับจากสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นรางวัลระดับประเทศ และเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้ส่วนราชการต่างๆ ได้แก่ ผลงาน “การพัฒนาระบบคัดกรองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานดอนเมือง” โดยได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐแห่งชาติ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ 

ซึ่งโครงการนี้เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนางานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เดินทาง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ สามารถนำข้อมูลกลับมาใช้เฝ้าระวังป้องกันโรคได้ทันท่วงที ไม่เกิดการแพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศไทยและส่วนต่างๆ ของโลก เป็นการพัฒนาสมรรถนะช่องทางเข้าออกประเทศตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548
 

จากข้อมูลของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ปี 2559 - 2560 พบว่ามีจำนวนผู้เดินทางระหว่างประเทศในท่าอากาศยานดอนเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.97 (19 ล้านคน เป็น 23 ล้านคน) และยังพบว่ามีผู้เดินทางที่ผ่านการตรวจคัดกรองโรคเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 51.21 (14,291 คน เป็น 21,624 คน) จำนวนคนที่เพิ่มขึ้นทำให้มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำได้ง่าย การคัดกรองเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศจึงต้องเข้มข้นและใช้เวลานาน เฉลี่ย 12-16 นาทีต่อคน ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้า เสียเวลารอคอย อาจทำให้ผู้เดินทางพลาดเที่ยวบินได้
 

กรมควบคุมโรค จึงได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่ออำนวยความสะดวก และไม่เพิ่มภาระงานแก่เจ้าหน้าที่ แต่มาตรการและความเข้มข้นเช่นเดิม โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้พัฒนากระบวนการคัดกรอง ซึ่งมีการพัฒนาระบบมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้นำระบบ “E-screening” ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เดินทาง ใช้งานง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ไม่ซ้ำซ้อน ลดเวลาการรอคอยจากเดิม 

โดยผู้เดินทางไม่ต้องกรอกแบบคัดกรองที่เป็นแบบฟอร์มกระดาษ แต่กรอกข้อมูลผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่จุดคัดกรองหรือกรอกผ่านสมาร์ทโฟน แทบเลต และสามารถกรอกข้อมูลล่วงหน้าก่อนเดินทางถึงประเทศไทยโดยการสแกนผ่าน QR CODE หรือค้นหา URL แล้วทำการบันทึกข้อมูล เมื่อมาถึงประเทศไทยก็นำเอกสารมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้งานเสร็จตามกำหนดเวลา สามารถนำข้อมูลกลับมาใช้ประโยชน์ในการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว และทันสถานการณ์ เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติด้านการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good health and well-being) เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อระหว่างประเทศ 


นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวเสริมว่า ผลการดำเนินงานครั้งนี้ พบว่าการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้พัฒนากระบวนการคัดกรอง ส่งผลให้ผู้เดินทางจากเขตติดโรคได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลารอคอย จาก 12-16 นาที เหลือ 2-3 นาที หรือเร็วขึ้นประมาณ 5 เท่า เป็นการช่วยลดความแออัดและลดความเสี่ยงการแพร่กระจายโรค เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน งานเสร็จตามกำหนดเวลา เป็นการพัฒนาสมรรถนะช่องทางเข้าออกประเทศตามกฏอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 (IHR. 2005) นอกจากนี้ยังส่งเสริมการท่องเที่ยว นำรายได้เข้าสู่ประเทศ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศชาติอีกด้วย