กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยความทนต่อฤทธิ์แอลกอฮอล์ในร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น คนที่มีโรคประจำตัว ดีกรีของเครื่องดื่ม และระบบเผาผลาญแอลกอฮอล์ในร่างกาย เป็นต้น พร้อมแนะประชาชนแอลกอฮอล์ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุทำให้คนไทยป่วยและตายก่อนวัยอันควร ก่อให้เกิดปัญหาครอบครัว อุบัติเหตุ ความรุนแรงอันเกิดจากขาดสติ และอาชญากรรม ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
วันนี้ (24 กันยายน 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงประเด็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและในระยะเวลาสั้นๆ นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีการออกฤทธิ์เป็นสารกดประสาท หลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะขึ้นสูงสุดภายในระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 45 นาที ระยะเวลาการออกฤทธิ์ในร่างกายขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม
จากการวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในการดื่มช่วงแรกระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ บาดเจ็บ และพฤติกรรมรุนแรง ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะเกิดอาการสับสน ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะมีอาการง่วง สับสน มึนงง และซึม ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป (เหล้าขาว+สี 1.5-2 แบน หรือ ¾-1 ขวด) ผู้ดื่มจะเกิดอาการสลบ และในปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงระดับนี้ สามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจและการรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มได้
ดังนั้น การดื่มเบียร์ เหล้าหรือไวน์ปริมาณมากในระยะเวลาสั้นๆ จึงอาจทำให้ผู้ดื่มหมดสติ ชีพจรช้าลง การหายใจแย่ลง จนถึงอาจหยุดหายใจอันตรายต่อชีวิตได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ความทนต่อฤทธิ์แอลกอฮอล์ในร่างกายแต่ละคนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น คนอ้วนคนผอม คนที่มีโรคประจำตัว ดีกรีของเครื่องดื่มที่ได้รับ และระบบเผาผลาญแอลกอฮอล์ในร่างกาย ส่วนปัจจัยที่เสริมให้การดื่มสุราได้รับผลกระทบต่อฤทธิ์แอลกอฮอล์มาก คือ การดื่มแบบเพียว และการดื่มขณะท้องว่าง เป็นต้น สำหรับแอลกอฮอล์ไม่ว่าในรูปแบบใด (เบียร์ สุรา เหล้า ไวน์ ฯลฯ) ก็มีแต่ผลเสียไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ
โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มที่อายุน้อยกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ คนที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรและเครื่องยนต์ ที่นอกจากเป็นสาเหตุทำให้คนไทยป่วยและตายก่อนวัยอันควรจำนวนมากในแต่ละปี ยังก่อให้เกิดปัญหาครอบครัว อุบัติเหตุ ความรุนแรงอันเกิดจากขาดสติ และอาชญากรรม ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนให้ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด หรือหากจำเป็นต้องดื่ม ขอให้ระมัดระวังไม่ดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปรวดเดียว หรือปริมาณมากในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรดื่มเกินลิมิตของตนเอง เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้โทษมากกว่าคุณประโยชน์ ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร 02 590 3342 หรือที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
Post Views: 40