Update Newsสังคมสังคม/CSRสาธารณสุข

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนพื้นที่น้ำท่วม ระวังการจมน้ำ ไฟดูด สัตว์มีพิษกัดต่อย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ระมัดระวังการจมน้ำ ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต และสัตว์มีพิษกัดต่อย สาเหตุการเสียชีวิตจากน้ำท่วมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากการจมน้ำ เนื่องจากถูกน้ำพัด น้ำท่วมฉับพลัน และเดินลุยน้ำ แนะวิธีป้องกันจมน้ำ ให้ยึด 4 ห้ามและ 4 ให้ อาทิ ห้ามออกหาปลาช่วงน้ำไหลหลาก ห้ามขับรถฝ่าน้ำท่วม ห้ามปล่อยเด็กเล่นน้ำช่วงน้ำเริ่มลด ห้ามแตะสวิตช์ไฟ ปลั๊กไฟขณะตัวเปียกหรือยืนแช่น้ำอย่างเด็ดขาด เสี่ยงเกิดไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และให้ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด 


วันนี้ (3 ตุลาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุเตี้ยนหมู่ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่อาจทำให้เกิดอันตรายและได้รับบาดเจ็บ เช่น การจมน้ำ ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต และสัตว์มีพิษกัดต่อย เป็นต้น ที่น่าห่วงคือ การจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากที่สุด 

จากข้อมูลการศึกษาวิจัยผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย ของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 - ธันวาคม 2560 มีจำนวน 222 ราย ร้อยละ 94 เกิดจากการจมน้ำ โดยในกลุ่มผู้ใหญ่มีสาเหตุมาจากการออกไปหาปลา หาหอย มากที่สุด รองลงมาคือ ถูกกระแสน้ำพัด ในกลุ่มเด็กเกิดจากการเล่นน้ำมากที่สุด ส่วนการเสียชีวิตที่พบรองลงมาคือ ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าซ็อต พบร้อยละ 4 ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นขณะอยู่ในบ้าน จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง


คำแนะนำเพื่อป้องกันการจมน้ำในช่วงน้ำท่วม ขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก “4 ห้าม 4 ให้” โดย 4 ห้าม ได้แก่ 1.ห้ามหาปลาในช่วงน้ำไหลหลาก 2.ห้ามดื่มสุราแล้วลงเล่นน้ำ เนื่องจากจะเสี่ยงเกิดตะคริวได้สูง รวมทั้งหากเมาสุรา จะทำให้เสียการทรงตัว และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 3.ห้ามเดินผ่านหรือขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม เพราะระดับน้ำเพียง 6 นิ้ว จะทำให้รถเสียหลักและล้มได้ และ 4.ห้ามเด็กเล็กลงเล่นน้ำ อาจพลัดตกหรือถูกน้ำพัดได้ 


สำหรับ 4 ให้ ได้แก่ 1.ให้อพยพไปยังพื้นที่สูง ให้รีบออกจากพื้นที่ในกรณีเกิดน้ำท่วม 2.ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝาและผูกเชือก 3.ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันเวลาฉุกเฉิน และ 4.ให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร สภาพอากาศตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด



นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต ในช่วงน้ำท่วมก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติดังนี้ 1.สับคัทเอาท์เพื่อตัดกระแสไฟ 2.ย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และปลั๊กไฟขึ้นที่สูง 3.อย่าใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะร่างกายเปียกหรือยืนแช่น้ำอยู่ 4.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟ เสาไฟ หากเกิดไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟกระจายเป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร อาจทำให้ถูกไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อตเสียชีวิตได้


นอกจากนี้ ขอแนะนำการป้องกันสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ คือ 1.สอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้านเป็นประจำ 2.สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง 3.หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรแต่งตัวให้มิดชิด และสวมรองเท้าบูททุกครั้ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422