กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยขอให้สำรวจบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชน โดยเฉพาะตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆ ที่มีน้ำขังหลังจากฝนตก หรือหลังน้ำลดจากน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ พร้อมแนะประชาชนใช้วิธีเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการปราบยุงลาย “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”
วันนี้ (22 ตุลาคม 2563) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ในบางพื้นที่ของประเทศไทยยังคงมีฝนตก ทำให้มีน้ำขังในภาชนะหรือวัสดุต่างๆ หลังจาก ฝนตก หรือหลังน้ำลดจากน้ำท่วมในพื้นที่บริเวณบ้านหรือในชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายได้ นั้น กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเพื่อตัดวงจรการเกิดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค และเตือนประชาชนให้ระมัดระวังป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เพราะอาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และโรคติดต่อนำโดยยุงลายอื่นๆ
โดยสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 ตุลาคม 2563 พบผู้ป่วย 63,843 ราย เสียชีวิต 45 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี และแรกเกิด -4 ปี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน อ่างทอง ชัยนาท เชียงใหม่ และนครสวรรค์ ตามลำดับ
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้น ขอให้ประชาชนสำรวจพื้นที่ที่มีน้ำขัง โดยเน้นที่ภาชนะใส่น้ำหรือน้ำที่ตกค้างตามเศษขยะหรือภาชนะต่างๆ เนื่องจากยุงลายชอบวางไข่ในภาชนะที่มีน้ำใส่และนิ่งไม่ใช่บ่อน้ำหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ โดยร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชน พร้อมแนะให้ประชาชนเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”
ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา
ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคโควิด 19 จึงขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน โดยให้เลือกรับประทานยาแก้ไข้พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการทานยากลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน เพราะถ้าหากเป็นไข้จากโรคไข้เลือดออกยากลุ่มนี้จะส่งผลทำให้การรักษายุ่งยากและเสี่ยงต่อการทำให้มีอาการหนักมากยิ่งขึ้น หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยโรคหาสาเหตุว่าเกิดจากโรคอะไรและรับการรักษาต่อไป
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
Post Views: 0