Update Newsสังคมสังคม/CSRสาธารณสุข

กรมควบคุมโรค เตือนระวังโรคที่มากับหนู พบระบาดช่วงหน้าฝน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชน ให้ระวังภัยอันตรายที่มากับหนู เช่น การถูกหนูกัดตามร่างกาย การกัดแทะทำลายข้าวของ และการติดโรคที่มากับหนู ได้แก่ โรคฉี่หนู กาฬโรค (จากหมัดหนู) สครับไทฟัส (จากไรหนู) เป็นต้น โดยเฉพาะโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรสิส เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มักพบการระบาดในช่วงฤดูฝนและพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขัง


วันนี้ (7 กรกฎาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีโลกออนไลน์มีการแชร์คลิปฝูงหนูท่อจำนวนนับร้อยตัวบุกแฟลตดินแดงนั้น อาจมีหลายปัจจัยที่ทำให้หนูชุกชุม เช่น มีเศษอาหารหรือกองขยะที่เป็นแหล่งอาหารมากมายสำหรับหนู ประกอบกับช่วงนี้มีฝนตกต่อเนื่องเกิดน้ำท่วมขัง ทำให้หนูมีการย้ายที่อยู่ขั้นมาข้างบนพื้นผิวถนนเพื่อหนีน้ำ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอเตือนประชาชนให้ระวังภัยอันตรายและโรคที่มากับหนู ได้แก่ โรคฉี่หนู (จากตัวหนู) กาฬโรค (จากหมัดหนู) สครับไทฟัส (จากไรหนู) ฮันตาไวรัส โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้หนูกัด รวมทั้งโรคพยาธิต่างๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น โค กระบือ สุกร สุนัข และ หนู ซึ่งเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ
โรคไข้ฉี่หนูสามารถติดต่อได้ทั้งทางตรง ได้แก่ การสัมผัสกับปัสสาวะหรืออวัยวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักติดโรคทางอ้อม ได้แก่ การกินน้ำหรืออาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน การเดินลุยน้ำย่ำดินที่ชื้นแฉะและมีเชื้อปนเปื้อน โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน น้ำฝนจะชะล้างพาเชื้อโรคที่มากับปัสสาวะของสัตว์ไหลมาร่วมกันในบริเวณน้ำท่วมขัง ทำให้คนที่อยู่บริเวณนี้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์ 

โดยเริ่มแรกจะมีไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตาแดง ต่อมาจะมีอาการรุนแรง เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย ไอเป็นเลือด หายใจลำบาก และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งโรคนี้มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง หากได้รับการรักษาทันท่วงทีจะป้องกันการเสียชีวิตได้ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักซื้อยามากินเอง เนื่องจากอาการเริ่มแรกคล้ายกับโรคไข้หวัดหรือโรคติดเชื้ออื่นๆ กว่าจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็มีอาการรุนแรงมากจนนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด 


ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคเลปโตสโรสิส กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 2,500 ราย เสียชีวิต 40 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่ภาคใต้ รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ตามลำดับ กลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เช่น ชาวนา ชาวสวน คนหาปลาตามแหล่งน้ำ คนเลี้ยงสัตว์ รวมทั้ง ผู้ประสบอุทกภัยหรืออยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง สำหรับสถานการณ์โรคปี 2565 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 3 ก.ค. 65 พบผู้ป่วย 615 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด เรียงตามลำดับ คือ 45-54 ปี (ร้อยละ 18.21) 35-44 ปี (ร้อยละ 17.72) และ 55-64 ปี (ร้อยละ 14.80) อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร (ร้อยละ 35.6) อาชีพรับจ้าง(ร้อยละ 29.3) และกลุ่มนักเรียน (ร้อยละ 15.9) 


นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า หนู ถือเป็นสัตว์ตัวการสำคัญที่ทำให้เชื้อโรคฉี่หนูหมุนเวียนอยู่ในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมได้ อย่างกรณีหนูท่อบุกแฟลตดินแดงนั้น เราต้องมีการควบคุมประชากรหนูโดยยึดหลัก 3 กำจัด 1) กำจัดหนูหรือดักหนูด้วยวิธีต่างๆ 2) กำจัดแหล่งอาหารของหนู ได้แก่ หมั่นทำความสะอาดบ้าน อาคาร และบริเวณโดยรอบไม่ให้มีเศษอาหารหรือขยะ ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด กำจัดกองขยะเป็นประจำหรือนำไปทิ้งในบริเวณที่เตรียมไว้ ทำความเข้าใจกับประชาชนในการงดให้อาหารหนู หากมีความจำเป็นสามารถใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมได้ 3) กำจัดที่อยู่อาศัยของหนู เช่น ปิดรูซอกอาคาร หรือปิดฝาท่อ เป็นต้น


นอกจากนี้ยังมีวิธีการป้องกันตนเองจากโรคฉี่หนูและโรคที่มากับหนูได้ ดังนี้ 1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือเดินเข้าใกล้หนู หากถูกหนูกัดให้รีบไปพบแพทย์ 2) หลีกเลี่ยงการแช่น้ำหรือลุยน้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกหุ้มเท้า เมื่อกลับถึงบ้านให้ทำความสะอาดร่างกายทันทีเพื่อลดการสัมผัสเชื้อ 3) กินอาหารสุกใหม่ เก็บอาหารให้มิดชิด หลีกเลี่ยงการกินอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปิด 4) หากมีอาการสงสัยโรคฉี่หนูให้รีบไปพบแพทย์ทันที จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ 

กรณีมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422