กรมควบคุมโรค เผยผลการจัดการสุขภาพแบบองค์รวม พบอัตราการเสี่ยงของแรงงานลดลง
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาโครงการ “การจัดการสุขภาพแบบองค์รวมโดยการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ” เผยผลการดำเนินงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการประสบอันตรายของแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกโครงการสถานประกอบการปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข มีสถานประกอบการผ่านเกณฑ์ 772 แห่ง จากที่เข้าร่วมฯ 2,719 แห่ง และการประเมินและจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพครบวงจร (จัดบริการอาชีวอนามัยครบวงจร) มีสถานประกอบการที่จัดบริการอาชีวอนามัยครบวงจรอยู่ในระดับดีมาก 55 แห่ง จากที่เข้าร่วมฯ 273 แห่ง ทำให้โครงการดังกล่าวได้รับรางวัลผลงานคุณภาพ ประจำปี พ.ศ.2561 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) วันนี้ (16 ตุลาคม 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีนี้กรมควบคุมโรค ได้รับรางวัลผลงานคุณภาพ ประจำปี 2561 จำนวน 9 รางวัล จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ และถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้ส่วนราชการต่างๆ ที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือผลงาน “การจัดการสุขภาพแบบองค์รวมโดยการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ” ของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐแห่งชาติ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชากรวัยทำงานมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี ลดการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการบาดเจ็บ รวมทั้งโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของพื้นที่ และปลอดภัยจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้ดำเนินโครงการสถานประกอบการปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุขอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2555-ปัจจุบัน โดยใช้กลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการดำเนินงาน ดังนี้ 1.การสนับสนุนขององค์กร มีการกำหนดนโยบายฯ ผู้รับผิดชอบโครงการ การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน การติดตามทบทวนและประเมินผลเพื่อการพัฒนา 2.ปลอดโรค การให้ความรู้และคำปรึกษากับสถานประกอบการเพื่อป้องกันควบคุมโรค 3.ปลอดภัย การทำงานกับ เครื่องจักร/อุปกรณ์/เครื่องใช้ ที่ปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม และ 4.กายใจเป็นสุข ส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิต และการเห็นคุณค่าของพนักงานและครอบครัว ซึ่งองค์ประกอบที่กล่าวมาจะเน้นการบูรณาการและสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานของหน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภายนอกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลสุขภาพของลูกจ้างในสถานประกอบการที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ (ไม่รวม กทม.) ตั้งแต่ปี 2556 - 2560 จำนวน 2,719 แห่ง และมีสถานประกอบการที่ดำเนินการผ่านเกณฑ์การประเมินฯ จำนวน 772 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 28.39) จำนวนแรงงานที่ได้รับการดูแลสุขภาพภายใต้การดำเนินงานโครงการฯ จำนวน 464,430 คน ด้านแพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าสถานประกอบการมีการประเมินและจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพแบบครบวงจรผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 262 แห่ง แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับเริ่มต้น 145 แห่ง ระดับพื้นฐาน 28 แห่ง ระดับดี 34 แห่ง และระดับดีมาก 55 แห่ง และในปี 2559-2560 พบว่าในภาพรวมสถานประกอบการ มีการประเมินและจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพแบบครบวงจร (ระดับดีมาก) คือ มีดำเนินการได้ครบถ้วนทุกขั้นตอน จำนวน 55 แห่ง ในพื้นที่ 24 จังหวัด นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการประสบอันตรายต่อลูกจ้าง 1,000 ราย ตั้งแต่ปี 2555-2559 ลดลงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จาก 1.กรณีร้ายแรง พบอัตราการประสบอันตรายฯ เท่ากับ 4.52 / 3.95 / 3.43 / 3.19 / 3.04 ตามลำดับ 2.รวมทุกกรณีความรุนแรง พบอัตราการประสบอันตรายฯ เท่ากับ 15.37 / 12.57 / 10.98 / 10.25 / 9.47 และพบว่าการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรม ของหน่วยงานสาธารณสุขมีความคล่องตัว สามารถเข้าถึงสถานประกอบการได้ง่ายขึ้น มีการบูรณาการดำเนินงานในรูปแบบสหสาขาวิชาชีพ เช่น งานอาชีวเวชกรรม งานโภชนาการ งานอนามัยสิ่งแวดล้อม และงานโรคไม่ติดต่อ เป็นต้น ทำให้สามารถแนะนำ ค้นหา ประเมิน และจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพได้ครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น