กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาเด็กจมน้ำเสียชีวิต โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนและปิดเทอมใหญ่นี้ จากข้อมูลเฝ้าระวังเบื้องต้นในปี 2561 นี้พบเด็กจมน้ำเสียชีวิต 42 ราย เฉพาะช่วงปิดเทอมใหญ่เดือนมีนาคมถึงปัจจุบันพบเด็กจมน้ำเสียชีวิตแล้ว 29 ราย เตือนผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด อย่าปล่อยให้ชวนกันไปเล่นน้ำกันเอง และแม้จะเป็นสระน้ำพลาสติกเป่าลมก็อย่าปล่อยให้เล่นน้ำตามลำพัง
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนและปิดเทอมใหญ่ 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม) ซึ่งเป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดเช่นกัน จากข้อมูลปี 2560 ที่ผ่านมา พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 708 ราย โดยเป็นการจมน้ำเสียชีวิตในช่วงปิดเทอมใหญ่ถึง 254 ราย หรือร้อยละ 35.9 และเด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 5-9 ปี (ร้อยละ 48.4) และสาเหตุการจมน้ำในช่วงปิดเทอมใหญ่เนื่องจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเอง
โดยข้อมูลปีที่แล้วพบว่าเดือนพฤษภาคม เมษายน และมีนาคม เด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด ใกล้เคียงกัน คือ 87, 84 และ 83 ราย ตามลำดับ ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคใต้ เห็นได้จาก 12 จังหวัดแรกที่มีจำนวนเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา(31) อุบลราชธานี(30) สุรินทร์ ศรีสะเกษ(จังหวัดละ 26) สกลนคร(22) ขอนแก่น(20) อุดรธานี สงขลา บุรีรัมย์(จังหวัดละ 19) ปัตตานี ชัยภูมิ นครศรีธรรมราช(จังหวัดละ 16)
ส่วนในปี 2561 นี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังในเบื้องต้นของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–10 เม.ย. 61 พบเด็กจมน้ำเสียชีวิต 42 ราย (จำนวนผู้เสียชีวิตเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริงประมาณ 4-5 เท่า) ในจำนวนนี้พบผู้เสียชีวิตเป็นเด็กอายุ 10-14 ปีมากที่สุด (ร้อยละ 47.6) รองลงมาคือ 5-9 ปี (ร้อยละ 28.6) เฉพาะในช่วงปิดเทอมใหญ่ ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงปัจจุบัน ข้อมูลเบื้องต้นพบเด็กจมน้ำเสียชีวิตแล้ว 29 ราย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอเตือนผู้ปกครองว่าในช่วงปิดเทอมใหญ่นี้ให้ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้ชวนกันไปเล่นน้ำกันเอง โดยเฉพาะในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ห่างไกลจากผู้ใหญ่คอยดูแล อีกข้อควรระวังคือในช่วงปิดเทอมใหญ่ที่เด็กจะอยู่บ้านกับครอบครัว ประกอบกับช่วงนี้อากาศร้อน ผู้ปกครองจึงมักซื้อสระน้ำพลาสติกเป่าลมใส่น้ำให้เด็กๆเล่นในบริเวณบ้าน และอาจชะล่าใจเห็นว่าเป็นน้ำตื้น ปล่อยให้เด็กเล่นตามลำพัง อาจทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้เช่นกัน
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำการใช้สระน้ำพลาสติกเป่าลม ดังนี้ 1.เลือกขนาดของสระน้ำเป่าลมให้เหมาะกับผู้ที่ใช้งาน เช่น ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ควรเลือกสระที่มีความสูงไม่มาก เพื่อป้องกันการจมน้ำ โดยเลือกสระน้ำในระดับที่เด็กนั่งแล้ว ไม่จมน้ำหรือระดับอยู่ประมาณท้องของเด็กเมื่อนั่ง 2.กรณีเลิกใช้งานแล้ว ควรปล่อยน้ำออกจากสระให้หมด เพื่อป้องกัน การแอบไปเล่นของเด็กๆ 3.ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำในสระน้ำพลาสติกตามลำพัง เพราะอาจเกิดการจมน้ำได้
กรมควบคุมโรค ขอฝากถึงประชาชนหากพบเห็นคนตกน้ำไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ“ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 1.ตะโกน คือการเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์ กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และ 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ
“อีกเรื่องที่ต้องระมัดระวังในช่วงนี้ คือ การถูกฟ้าผ่า เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นเป็นระลอกบ่อยครั้ง จึงขอแนะนำประชาชนป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า โดยหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง ควรหลบในตัวอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า ไม่ควรใช้โทรศัพท์ เปิดคอมพิวเตอร์ เล่นอินเตอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับการช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่า โดยโทร ขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร.1669 แจ้งข้อมูลผู้ถูกฟ้าผ่า สถานที่เกิดเหตุ และอาจเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังที่ปลอดภัย โดยต้องประเมินความปลอดภัยของที่เกิดเหตุก่อน หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวปิดท้าย
Post Views: 57