Update Newsกระทรวงสาธารณสุขสังคมสังคม/CSR

กรมควบคุมโรค เร่งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ เพื่อป้องกันการจมน้ำ

กรมควบคุมโรค เล็งเห็นอุบัติเหตุการจมน้ำยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญในระดับโลก จึงเร่งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ เพื่อป้องกันการจมน้ำ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี พบว่า เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่หนึ่ง ทางสหประชาชาติได้มีมติให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และขอให้ประเทศสมาชิกดำเนินมาตรการป้องกันในด้านต่างๆ อย่างเร่งด่วน โดยมาตรการหนึ่งที่สำคัญคือ การสอนให้เด็กตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไปสามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้


วันนี้ (24 เมษายน 2567) ที่สระว่ายน้ำกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด สนับสนุนการสร้างทีมผู้ก่อการดีและอาสาก่อการดีป้องกันการจมน้ำ




 

 

 

 

 

  

 

 

 

นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายทุกภาคส่วนให้สามารถเป็นวิทยากร สอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้ คือ มีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอด และทักษะการช่วยเหลือคนตกน้ำ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญในการป้องกันการจมน้ำที่ทางองค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำไว้ การจมน้ำยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญในระดับโลก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี พบว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่หนึ่ง เฉลี่ยวันละประมาณ 400 คน สำหรับประเทศไทย ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2557 - 2566) พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจมน้ำเสียชีวิตปีละ 669 คน หรือเฉลี่ยวันละ 2 คน


นายแพทย์ดิเรก กล่าวต่อว่า ผลลัพธ์จากการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเพื่อป้องกันจมน้ำในปีนี้ กรมควบคุมโรค ได้เร่งพัฒนาทั้งบุคลากรเครือข่ายภาคสาธารณสุขเพื่อเป็นผู้จัดการแผนงานป้องกันการจมน้ำทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ จำนวน 3 รุ่น กว่า 200 คน และบุคลากรเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อเป็นครูสอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด จำนวน 3 รุ่น เกือบ 500 คน ในแต่ละรุ่นใช้ระยะเวลา 3 วัน เน้นการฝึกภาคปฏิบัติ 

สำหรับวันนี้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดรุ่นที่ 2 มีผู้สมัครเข้ารับการอบรมทั้งสิ้น จำนวน 133 คน จาก 25 จังหวัด ประกอบด้วย หน่วยงานภาคท้องถิ่น หน่วยงานภาคการศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สมาคม มูลนิธิ จิตอาสา และหน่วยงานอื่นๆ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 


“การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในปีนี้จะเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการป้องกันและลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้บรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” นายแพทย์ดิเรก กล่าว