Update Newsสาธารณสุข

กรมควบคุมโรค เร่งเดินหน้าป้องโรคติดต่อนำโดยแมลง เน้นทำงานเชิงรุก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมเพื่อพัฒนาเครือข่ายโรคติดต่อนำโดยแมลง พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทำคุณความดีให้แก่งานโรคติดต่อนำโดยแมลง และเร่งเดินหน้าดำเนินการในปี 2561 โดยเน้นการทำงานภายใต้ระบบคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งเป็นความร่วมมือของเครือข่ายทุกภาคส่วน


วันนี้ (13 ธันวาคม 2560) ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ  นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาเครือข่ายโรคติดต่อนำโดยแมลง ประจำปี 2561 และมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทำคุณความดีให้แก่งานโรคติดต่อนำโดยแมลง จำนวน 2 ท่าน พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอกับการป้องกันควบคุมโรค” 

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการประกาศกำจัดโรคเท้าช้างได้แล้ว โดยการรับรองจากองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โดยใช้มาตรการการเฝ้าระวังและการให้ยาป้องกันและรักษาโรคในวงกว้างในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งการดูแลประชากรในเขตชายแดนโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือสถานะ ทำให้ประสบความสำเร็จในการกำจัดโรคเท้าช้างในที่สุด  

   

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับโรคติดต่อนำโดยแมลง ไว้ดังนี้ 1.มีค่าเป้าหมายโรคติดต่อนำโดยแมลงที่จะบรรลุภายในปี 2564 คือไม่มีการแพร่เชื้อมาลาเรีย ร้อยละ 95 ของอำเภอ/เขต และอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกลดลงไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 ของค่ามาตรฐานปี 2563

ส่วนโรคไข้มาลาเรียก็กำลังก้าวเข้าสู่กระบวนการกำจัดเช่นเดียวกัน โดยพบว่า ในปี 2560 มีผู้ป่วยมาลาเรีย 13,971 ราย ลดลงจากปี 2559 คิดเป็นร้อยละ 20 และในปี 2561 มีเป้าหมายให้อำเภอปลอดการแพร่เชื้อมาลาเรียจำนวน 743 อำเภอ คิดเป็นร้อยละ 80 ของอำเภอทั้งหมด ซึ่งในขณะนี้มีอำเภอที่เข้าเกณฑ์การประเมินแล้ว 713 อำเภอ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อีก 30 อำเภอ  สำหรับโรคไข้เลือดออกในปีนี้ (1 ม.ค.-4 ธ.ค. 60) พบผู้ป่วยกว่า 48,896 ราย เสียชีวิต 59 ราย 

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกที่พบในปัจจุบัน จำเป็นต้องเร่งรีบจัดการไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยในปี 2561 นี้ มุ่งเน้นการทำงานแบบเข้มข้นเชิงรุก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดโรคและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งทั้งหมดต้องขับเคลื่อนภายใต้กลไกความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภายใต้ระบบคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่ต้องอาศัยทีมงานทั้งในส่วนกลาง เขต ภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชน และภาคเอกชน ร่วมกันเป็นข่ายงานภาคีที่สามารถร่วมกันวิเคราะห์เหตุปัจจัยของปัญหาสุขภาพ เพื่อเป็นแนวทาง รูปแบบ วิธีการ เครื่องมือ และพัฒนาสมรรถนะของทีมงานประชารัฐในพื้นที่นั้นๆ

ด้านนายแพทย์ปรีชา  เปรมปรี  ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง  กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ร่วมการอภิปราย การบรรยาย และการแสดงนิทรรศการ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อนำโดยแมลง เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 350 คน  

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทำคุณความดีแก่งานโรคติดต่อนำโดยแมลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในประเทศไทย ดังนี้ 1.รางวัลเกียรติคุณ“สุรินทร์ พินิจพงศ์” ผู้มีคุณูปการต่อการกำจัดโรคมาลาเรียในประเทศไทย ได้แก่ แพทย์หญิงกรองทอง ทิมาสาร ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมาลาเรีย  และ 2.รางวัลเกียรติคุณ“มูลนิธิเอื้ออาทร” ผู้มีคุณูปการต่อการกำจัดโรคเท้าช้างในประเทศไทย ได้แก่ นายแพทย์สุวิช  ธรรมปาโล  ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที 12 สงขลา  หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422