กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย: EEC Thailand จัดโครงการรณรงค์วันสิ่งแวดล้อม ภายใต้ธีมสุขภาพกับความหลากหลายทางชีวภาพ “Biodiversity and Health” เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลกซึ่งตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสาเหตุที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง พร้อมทั้งหันมาใส่ใจการใช้ชีวิตตามฐานวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ที่ลดการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goal : SDG)
วันนี้ (4 มิถุนายน 2563) นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้ พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย คุณอเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์ ประธานกรรมการบริหาร EEC Thailand และ น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ กรรมการผู้จัดการ EEC Thailand
ซึ่งจะเปิดเสวนาผ่าน Facebook live ในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เวลา 19.00 น. ทางเพจกองโรคจาการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เพจกรมควบคุมโรค และเพจ EEC Thailand หัวข้อเสวนาคือ สุขภาพกับความหลากหลายทางชีวภาพ “Biodiversity and Health” เพื่อให้ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐและเอกชน และเยาวชน ได้รับความรู้ด้านสุขภาพกับความหลากหลายทางชีวภาพ การปรับตัวในมิติของฐานวิถีชีวิตใหม่ : New Normal ที่เอื้อต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
คุณอเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์ กล่าวว่า ตามที่การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (COP25) ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ได้มีข้อสรุปการประชุมมุ่งเน้นพืชและสัตว์หนึ่งล้านชนิดที่กำลังเผชิญต่อการสูญพันธุ์ และกำหนดคำขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลก 2563 ไว้ว่า Biodiversity “ความหลากหลายทางชีวภาพ”
ขณะที่ พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง เกิดจากการทำลายหรือรบกวนด้วยน้ำมือมนุษย์ ผ่านกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวันหรือการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การบุกรุกและทำลายป่า การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงก็จะส่งผลกระทบต่อสมดุลของระบบนิเวศ รวมทั้งสุขภาพของสิ่งมีชีวิต สัตว์ พืช และคน อย่างไรก็ตามการช่วยกันคงความหลากหลายทางชีวภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน และทุกคนต้องช่วยกันปรับการปฏิบัติตัวตามรูปแบบการดำเนินชีวิต New Normal
คุณอเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์ ยังกล่าวอีกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ พืช และทุกคนบนโลกที่อาศัยในระบบนิเวศ เมื่อความหลากหลายชีวภาพลดลง จะทำให้พืชและสัตว์มากกว่าหนึ่งล้านชนิดพันธุ์มีโอกาสเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติ (United Nation Environmental Program: UNEP) จึงกำหนดให้ปี พ.ศ. 2563 นี้ เป็นปีแห่งการเร่งด่วนและดำเนินการแก้ไขวิกฤตธรรมชาติที่เกิดจากการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อปกป้องระบบนิเวศให้อยู่ในสมดุล ต่อไป
ด้าน น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดสภาพแวดล้อมใหม่ที่เอื้อต่อพาหะหรือเชื้อโรค ซึ่งเป็นการเร่งการแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโรค และในช่วง 20 - 30 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกเกิดการระบาดของโรคที่มากกว่า 100 โรค และ 60% ก็มาจากการระบาดที่เกี่ยวกับ zoonotic disease เช่น อีโบลา ไข้สมองอักเสบนิปาห์ โรคโควิด 19 ที่อาจมีสาเหตุจากค้างคาว ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับคน ปศุสัตว์ และสัตว์ป่า ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ซึ่งมีเป้าหมายคือ การเติบโตอย่างสมดุล และยั่งยืน ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต โดยมุ่งเน้นให้อนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน
Post Views: 45