Update Newsสาธารณสุข

กรมควบคุมโรค แนะกิน”สุก ร้อน สะอาด” ป้องหนอนตัวแบนนิวกินี

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค จากข้อมูลภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เก็บตัวอย่างหนอนตัวแบนนิวกินี 15 ตัว จากพื้นที่แหล่งเดียวกันใน อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ซึ่งตรวจไปแล้ว 10 ตัวอย่าง ไม่พบว่ามีตัวอ่อนของพยาธิหอยโข่ง พบเพียงตัวอ่อนของพยาธิตัวกลมไม่ทราบชนิด หนอนตัวแบนนิวกินีเป็นนักล่าหอย หากหนอนกินหอยที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิหอยโข่ง พยาธิจะเข้าไปอยู่ในตัวหนอน

ซึ่งหากคนบังเอิญรับประทานอาหาร หรือผักสดที่อาจมีหอย หรือหนอนขนาดเล็กๆ หลบซ่อนอยู่ก็อาจจะได้รับเชื้อพยาธิเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน แต่ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยติดโรคพยาธิปอดหนู (พยาธิหอยโข่ง) ที่มีพาหะแพร่โรคมาจากหนอนตัวแบนชนิดนี้”


“กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลประชาชนว่า พาหะแพร่เชื้อโรคไข้ปวดหัวหอย หรือพยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่งในธรรมชาติ ได้แก่ หอยต่างๆ เช่น หอยบก หอยน้ำจืด (หอยโข่ง หอยเชอรี่ หอยขม) และทาก เป็นต้น เมื่อคนกินหอยดิบ ก็สามารถมีตัวอ่อนระยะติดต่อได้ รวมถึงในผักและพืชผักต่างๆ ที่หอยทากคลานผ่านก็มีโอกาสปนเปื้อนตัวอ่อนและเป็นแหล่งแพร่โรคได้เช่นกัน ทั้งนี้ โรคไข้ปวดหัวหอย หรือพยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่ง ไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน 

 จึงขอแนะนำให้ประชาชนเน้นการรับประทานอาหารแบบ “สุก ร้อน สะอาด” ดังนี้ 1.กินหอยที่ปรุงสุกด้วยความร้อน หลีกเลี่ยงการกินหอยที่ดิบ หรือสุกๆดิบๆ 2.ควรล้างทำความสะอาดผักสดก่อนรับประทาน หรือรับประทานเฉพาะผักที่ลวกหรือต้มสุกแล้วเท่านั้น 3.และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ไม่สะอาดและไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะในแหล่งที่มีหอยและหนอนตัวแบนนิวกินีอาศัยอยู่ และ 4.ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง 

นอกจากนี้ ยังขอแนะนำวิธีการล้างผักให้สะอาดลดความเสี่ยงจากหนอนพยาธิ และสารเคมี โดยให้ล้างผักในน้ำ 1 กะละมัง (20 ลิตร) ผสมผงฟู 2 ช้อนชา แช่ผักไว้ 15 นาที แล้วล้างต่อด้วยน้ำ 1 กะละมังผสมด่างทับทิม 2 เกล็ด ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422”