กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนที่ทยอยเดินทางกลับจากสงกรานต์ ให้ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนน พร้อมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ 3 ด่าน 3 ม. และเคร่งครัดการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) รวมถึงไม่ลืมเข้ารับวัคซีนโควิด 19 ทั้งเข็มปกติและ เข็มกระตุ้น (Universal Vaccination) พร้อมทั้งสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการสงสัยติดเชื้อ ให้ทำการตรวจ ATK เพื่อให้ทุกคนปลอดโรคปลอดภัยหลังจากเทศกาลสงกรานต์
วันนี้ (16 เมษายน 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวว่า ตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต มีความห่วงใยประชาชน ได้มอบนโยบายให้กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ จึงได้ ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ติดตามการดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 และการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน พร้อมสร้างเสริมกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์
และหลังจากวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจะทยอยเดินทางกลับเพื่อหลีกเลี่ยงรถติด ขอให้ผู้เดินทางขับขี่ด้วยความระมัดระวังตลอดเวลาเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยข้อมูลของศูนย์การเฝ้าระวัง กรมควบคุมโรค สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา ช่วงเฝ้าระวังเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย. 64 พบผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต รวม 20,060 ราย แยกเป็นผู้บาดเจ็บ 19,709 ราย (ร้อยละ 98.25) เสียชีวิต 351 ราย (ร้อยละ 1.75) ซึ่งมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 24.14) ยานพาหนะที่เกิดเหตุมากที่สุด ได้แก่ จักรยานยนต์ (ร้อยละ 79.11) รองลงมา รถกระบะ (ร้อยละ 5.64) ส่วนเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ข้อมูลวันที่ 11-15 เม.ย. 65 พบอุบัติเหตุรวม 1,478 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ (Admit) 1,452 ราย ผู้บาดเจ็บ (OPD) ไม่รวมกทม. 10,534 ราย เสียชีวิต 204 ราย โดยการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ทั้งนี้ พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย
กรมควบคุมโรค จึงขอให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะปฏิบัติตามกฎจราจรและกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งขอให้ประชาชนพักผ่อนให้เพียงพอ หากง่วงให้พัก ขับขี่อย่างปลอดภัย ป้องกันอุบัติเหตุจราจร ด้วยมาตรการ 3 ด่าน 3 ม. ดังนี้ 1.ด่านตนเอง ตระหนักและหากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ควรขับรถ 2.ด่านครอบครัว ตักเตือน และไม่ให้คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ไปขับรถ 3.ด่านชุมชน คัดกรองและประเมินคนเมา ที่ขับขี่ยานพาหนะ โดยเน้นที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนถนนสายรอง และ 3ม. ได้แก่ 1.ไม่เมา เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุ 2.สวมหมวกนิรภัย เพราะจากข้อมูลยานพาหนะที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ จักรยานยนต์ 3.สวมแมส ป้องกันโควิด 19
สำหรับประชาชนที่เดินทางกลับจากสงกรานต์แล้ว ให้สังเกตอาการตนเองและเฝ้าระวัง 7 วัน หากมีอาการสงสัยติดเชื้อ มีไข้ ไอ เจ็บคอ ให้ทำการตรวจ ATK หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมาก หากต้องพบผู้อื่น ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา WFH ตามความเหมาะสม และปฏิบัติตามมาตรการ2U เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่และรับเชื้อโควิด 19 คือ Universal Prevention มาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา อย่างเคร่งครัด
โดยเน้นการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และ Universal Vaccination เข้ารับวัคซีนโควิด 19 ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422
Post Views: 45