กรมชลฯ นำร่องศึกษาวิจัยต้นทุนน้ำชลประทานในพื้นที่ EEC
กรมชลประทานเดินหน้าโครงการศึกษาวิจัยต้นทุนน้ำในพื้นที่ EEC เพื่อศึกษาข้อมูลในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง สำหรับจัดทำโครงสร้างต้นทุนจากระบบชลประทานที่เหมาะสมได้มาตรฐานให้เกิดการเชื่อมั่นและยอมรับในทุกภาคส่วน การประเมินต้นทุนการจัดการน้ำ รวมถึงการจัดเก็บค่าน้ำที่เหมาะสมตาม พรบ.ทรัพยากรน้ำ นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการศึกษาวิจัยต้นทุนน้ำในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ซึ่งถือเป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก:EEC) เพื่อศึกษารวบรวม และวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนและการประเมินต้นทุน การจัดการน้ำอุปทานโดยกรมชลประทานและการกำหนดอัตราค่าน้ำชลประทานที่เหมาะสมและเป็นรูปธรรมสำหรับทุกภาคส่วนที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามบริบทการจัดหา จัดสรร พัฒนา ให้บริการด้านอุปทานน้ำ (Water Resources Supply) รวมทั้งวางแผนและกำหนดทิศทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้โครงสร้างต้นทุนการจัดการน้ำอุปทานและอัตราคำน้ำชลประทานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่สอดคล้องกับแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ EEC ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน กลุ่มผู้ใช้น้ำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกแบบบูรณาการ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจะทำการศึกษาวิเคราะห์และกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแนวทางการจัดการน้ำอุปทานอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับภาคส่วนผู้ใช้น้ำที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบแล้วให้มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และรองรับอุปสงค์น้ำจากการคาดการณ์บริบทการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและพัฒนาระบบ Web Application สนับสนุนการวิเคราะห์ ประเมิน และกำหนดต้นทุนการจัดการน้ำอุปทานและกำหนดต้นทุนการจัดการน้ำ กำหนดอัตราค่าน้ำชลประทานอย่างเหมาะสม ภายใต้การคาดการณ์ปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้ ความต้องการน้ำและระดับความขาดแคลนอย่างมีมาตรฐานและเป็นธรรมสำหรับทุกภาคส่วนในเป้าหมาย 3 จังหวัดคือฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง คาบเกี่ยวกับ2ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก รวมพื้นที่ศึกษาทั้งหมดประมาณ 8,454,375 ไร่ โดยในการศึกษาครั้งนี้ได้แบ่งประเภทความต้องการน้ำออกเป็น 4ประเภท ด้วยกันคือ 1.น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการท่องเที่ยว 2.น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม 3.น้ำเพื่อการเกษตรชลประทานและ 4.น้ำเพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็ม นายวิทยา กล่าวอีกว่า กรมชลประทานเลือกพื้นที่ภาคตะวันออกนำร่องในการศึกษาต้นทุนน้ำ เนื่องจากว่าในปัจจุบันจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยองเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC)ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการลงทุนหลักของประเทศไทยและภูมิภาค นอกจากเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญแล้วยังมีฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และการเกษตรมูลค่าสูง ทำให้มีแรงงานทุกระดับหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่ส่งผลให้มีความต้องการความมั่นคงด้านน้ำสูงและคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2580 จะมีความต้องการใช้น้ำรวม 3,089 ล้าน ลบ.ม./ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีความต้องการใช้น้ำรวม 2,419 ล้าน ลบ.ม/ปี (เพิ่มขึ้น 670 ล้าน ลบม /ปี)อันเนื่องจากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ 3 จังหวัดEEC คิดเป็นร้อยสะ 53.5 ของความต้องการใช้น้ำทั้งภาคตะวันออก ทั้งนี้ ความต้องการใช้น้ำภาคอุปโภค-บริโภคมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุด (ร้อยละ 56) รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม (ร้อยละ 43) และภาคเกษตรกรรม (ร้อยละ 17) สำหรับความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและการท่องเที่ยว จังหวัดชลบุรีมีความต้องการใช้น้ำมากที่สุดคือ 147.50 ล้านลบ.ม.รองลงมาระยองและฉะเชิงเทรา 61.66 ล้านลบ.ม.และ41.89 ล้านลบ.ม.ตามลำดับ ส่วนความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมจังหวัดที่มีความต้องการใช้มากที่สุดคือ ระยองมีความต้องการ292.77ล้านลบ.ม.รองลงมาชลบุรี203.95ล้านลบ.ม.และฉะเชิงเทรา 108.92ล้านลบ.ม.ตามลำดับ ส่วนความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรชลประทาน จังหวัดฉะเชิงเทรามีความต้องการใช้มากที่สุดคือ1304.74ล้านลบ.ม.รองลงมาระยอง139.18ล้านลบ.ม.และชลบุรี117.97ล้านลบ.ม.
นายวิทยา ได้กล่าวถึงแนวทางในการวิเคราะห์และพัฒนาโครงสร้างต้นทุนการจัดการน้ำอุปทาน การประมาณการมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและการกำหนดอัตราค่าน้ำชลประทานด้วยว่า จะเน้นศึกษารูปแบบ วิธิการ กลไกลและแนวทางการแจกแจงโครงสร้างต้นทุนการประเมินต้นทุนและการกำหนดราคาน้ำในประเทศต่างๆที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทย อาทิ สหภาพยุโรปมีการกำหนดกฎระเบียบด้านการบริหารจัดการน้ำ (EU Water Framework Directive )โดยส่งเสริมเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งรวมถึงภาษีและค่าทำเนียมทั่วไปเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ใช้น้ำในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและลดปัญหามลพิษทางน้ำ รวมทั้งแนวทางขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือไจก้า ได้นำเสนอแนวทางการกำหนดราคาค่าน้ำกรณีศึกษาของเมืองเกียวโตซึ่งในข้อมูลได้นำเสนอรายได้จากการจัดเก็บค่าน้ำเปรียบเทียบกับต้นทุนอุปทานน้ำและอัตราส่วนความคุ้มทุนรวมระยะในการทบทวนอัตราค่าน้ำของผู้ให้บริการน้ำในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น “หลังจากผลดำเนินการศึกษาวิจัยต้นทุนน้ำพื้นที่EEC แล้วเสร็จ กรมชลประทานมีความเชื่อมั่นว่าจะทำให้มีการกำหนดอัตราราคาค่าน้ำที่เหมาะสม สะท้อนและครอบคลุมต้นทุนที่แท้จริง มีมาตรฐานและทำให้ประเทศไทยมีแนวทางในการใช้โครงสร้างต้นทุนการจัดการน้ำอุปทานและอัตราค่าน้ำชลประทานพร้อมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เหมาะสม ตลอดจนมีระบบ Web Applicationกำหนดต้นทุนการจัดการน้ำและอัตราค่าน้ำที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน” นายวิทยา กล่าว ปริญญา/ข่าว/ภาพ