Update Newsกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สังคมสังคม/CSR

กรมประมงร่วมกับ49 ชุมชน ผุดโครงการ“ประมงร่วมอาสา…พาปลากลับบ้าน”เพิ่มประชากร “ปลาไทย” กว่า 60 ล้านตัว

กรมประมง จัดทำโครงการ “ประมงร่วมอาสา…พาปลากลับบ้าน” ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่พร้อมถ่ายทอดเทคนิคการผสมพันธุ์ปลา ด้วยชุดอุปกรณ์เพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) ให้ชาวบ้านเพาะพันธุ์ และนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำสำคัญของประเทศ โดยนำร่องโครงการปล่อยคืนผลผลิตสัตว์น้ำที่ได้ ใน 2 แหล่งน้ำชุมชน ได้แก่ หนองหาร จังหวัดสกลนคร และ กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา หวังเพิ่มจำนวนประชากรปลาให้ 49 ชุมชนในพื้นที่ทั้ง 2 แหล่งน้ำ ได้ใช้ประโยชน์ในการทำประมง และเป็นแหล่งโปรตีนให้กับประชาชน

จากสถานการณ์แม่น้ำสำคัญหลายสาย เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศวิทยาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยหลายสาเหตุปัจจัย ทั้งสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ การก่อสร้างสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์สัตว์น้ำหลายชนิด ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติ ลดปริมาณลงตามไปด้วย หลายชนิดมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการอพยพไปผสมพันธุ์วางไข่ในแม่น้ำโขง  ไม่สามารถเดินทางกลับไปวางไข่ใน หนองหาร กว๊านพะเยา ส่งผลต่อการเพิ่มประชากรสัตว์น้ำ รุ่นใหม่ในอนาคต และกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงในพื้นที่

พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี  ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ มีนโยบายในการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญ เช่น หนองหาร จังหวัดสกลนคร  กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา  และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันเร่งแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ โดยให้ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อม  การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยเร็ว

 

 

 

ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้ให้นโยบายสำคัญแก่กรมประมงในการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ดังในอดีต เพื่อเป็นการเพิ่มอาหารโปรตีนราคาถูกและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน โดยดึงคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรประมง เกิดการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำสำคัญให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นแหล่งการทำประมงที่สำคัญในภูมิภาค สร้างอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงและประชาชนในพื้นที่

นายมีศักดิ์  ภักดีคง  อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมประมงได้เร่งเพาะขยายพันธุ์ปลาไทย  และนำไปปล่อยในแหล่งน้ำเพื่อทดแทนการผลิตจากธรรมชาติในลุ่มน้ำสำคัญของประเทศไทย ล่าสุด ได้วางแนวทางร่วมกับชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ฟื้นฟูผลผลิตสัตว์น้ำเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์สู่ระบบนิเวศต้นน้ำและแม่น้ำสาขา โดยได้ดำเนินโครงการ “ประมงร่วมอาสา…พาปลากลับบ้าน” เพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดของไทยและนำลูกปลาวัยอ่อนคืนสู่ต้นน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิดของพันธุ์ปลาไทยชนิดต่างๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยี “ชุดอุปกรณ์เพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่ (Mobile hatchery)” ทำการเพาะพันธุ์ปลาไทยในกลุ่มที่มีการอพยพจากลำนำโขง เช่น ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาสร้อยขาว ปลาเทพา  ปลากาดำ ฯลฯ

โดยในช่วงหน้าฝนฤดูปลามีไข่  ปลาจากแม่น้ำโขงพยายามจะเดินทางว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ในถิ่นเกิด แต่ด้วยระยะทางที่ไกลและอุปสรรคต่างๆ จึงทำให้ปลาเหล่านั้นไม่สามารถเดินทางไปวางไข่ได้ เป็นเหตุให้ปลาในหนองหาร และกว๊านพะเยา ลดลงอย่างมาก

ดังนั้น เพื่อพาปลากลับถิ่นเกิดและเพิ่มพันธ์ุปลาในแหล่งน้ำ  กรมประมงจึงได้ตั้งชุดเฉพาะกิจเพาะพันธุ์ปลาเคลื่อนที่ ด้วยชุด Mobile hatchery พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ร่วมกับชุมชนประมงอนุรักษ์ในพื้นที่ ไปตั้งแคมป์เพาะพันธุ์ปลา ดำเนินการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาไข่แก่ น้ำเชื้อสมบูรณ์ จากแม่น้ำโขง ฉีดฮอร์โมนผสมเทียม รีดไข่ เพาะฟักจนออกเป็นตัวอ่อน และนำลูกปลาวัยอ่อนบรรจุถุงควบคุมอุณหภูมิแล้วนำไปปล่อยลงในพื้นที่เป้าหมาย  และได้ส่งเสริมถ่ายทอด องค์ความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้เรียนรู้ในทุกกระบวนการขั้นตอน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในชุมชน เบื้องต้นได้นำร่องในพื้นที่เป้าหมาย 2 พื้นที่ คือ หนองหาร จังหวัดสกลนคร และ กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา โดยจะปล่อยปลาพื้นที่ละ 30 ล้านตัว รวมจำนวนทั้งสิ้น 60 ล้านตัว ดังนี้

พื้นที่ หนองหาร จังหวัดสกลนคร แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ พื้นที่ 77,000ไร่ ระบายน้ำลงลำน้ำกรำ

ไหลสู่แม่น้ำโขงที่บ้านปากบัง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ระยะทาง 123 กิโลเมตร  ชุดเฉพาะกิจฯ ได้ไปตั้งแคมป์เพาะพันธุ์ปลาที่บ้านปากบัง ตำบลพิมาน อำ ล้านตัวเภอนาแก จังหวัดนครพนม ได้ดำเนินการตามขั้นตอนจนได้ลูกปลาปล่อยลงในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหนองหาร จังหวัดสกลนคร ซึ่งขณะนี้ได้ทำการปล่อยปลาตะเพียนขาว ปลาสวาย ปลากระแห ไปแล้ว จำนวนรวมกว่า 12.84 ล้านตัว

พื้นที่ กว้านพะเยา จังหวัดพะเยา แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ทางภาคเหนือ ที่มีระยะลำน้ำไกลกว่า

170 กิโลเมตร จากปากน้ำอิง  ชุดเฉพาะกิจฯ ได้ไปตั้งแคมป์ ที่บริเวณปากน้ำอิง บ้านปากอิงใต้ ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการตามขั้นตอนเช่นเดียวกัน จนได้ลูกปลาปล่อยในกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งขณะนี้ ได้ปล่อยปลาตะเพียนขาว และปลาตะเพียนทอง ไปแล้ว รวมจำนวนกว่า 10.5 ล้านตัว

ทั้งนี้ จากการเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้ง 2 พื้นที่ สามารถเพาะพันธุ์ปลาและปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำไปได้แล้วกว่า 23.34 ล้านตัว โดยกรมประมงได้มีการสนับสนุนการสร้างแหล่งอาหารสำรองเพื่อรองรับจำนวนลูกปลาที่จะนำมาปล่อย เป็นการเพิ่มอัตราการรอดและการเติบโตของลูกปลาจำนวนมาก หลังจากนำไปปล่อยในพื้นที่แหล่งต้นน้ำ และจะมีการประเมินความชุกชุมการแพร่กระจายและการเติบโตของพันธุ์ที่นำมาปล่อยอีกด้วย

ภายใต้การมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นและผู้นำชุมชนในพื้นที่ และในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้เป็นช่วงที่ฝนตกชุกจะได้ดำเนินการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์เพื่อเร่งเพาะพันธุ์ให้บรรลุเป้าหมายและกำลังดำเนินการเพาะปลาเศรษฐกิจชนิดอื่นอีกด้วย อธิบดี กล่าวฯ