กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกับการพัฒนางานกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมฟินิกซ์ 5 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ให้การต้อนรับ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “สร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมกับงานพัฒนาสังคม (Social Enterprise : SE) ซึ่งเป็นเวทีวิชาการในการจัดงาน Thailand Social Expo 2018 โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานอนุกรรมการพิจารณาคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม นางลดาวัลย์ กันทวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และดำเนินรายการโดย ดร.เอราวัณ ทับพลี นายกสมาคมนักธุรกิจเอสเอ็มอีรุ่นใหม่![]()
![]()
นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นองค์กรด้านสังคมที่มีภารกิจในการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้แก่ประชาชนในทุกระดับ การทำงานของกระทรวงฯ เน้นการบูรณาการข้อมูลจากหลายภาคส่วนมาใช้ทำงานในเชิงรุก ได้แก่ 1) การนำข้อมูลการจดทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ มาใช้ในการวิเคราะห์วางแผนการทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียน11.649 ล้านคน และมีผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลมุ่งให้การช่วยเหลือก่อนเป็นอันดับแรก จำนวน 8.3 ล้านคน 2) การนำข้อมูลโครงการระบบแผนที่ทางสังคม (Social Map) ตามนโยบายการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของรัฐบาล มาพัฒนาระบบข้อมูลทางสังคมและวางแผนเชิงนโยบาย 3) การจัดโครงการ Family Data เปิดประตูเยี่ยมบ้านสร้างสะพานสู่สวัสดิการสังคมของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยนำข้อมูลผู้จดทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 252,788 ครอบครัว มาวิเคราะห์สถานการณ์และลงพื้นที่ทำงานในเชิงรุก
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่นเพื่อจัดเก็บข้อมูล Family Data ให้สามารถแจ้งเหตุ ค้นหาพื้นที่เพื่อการช่วยเหลือ และบันทึกผลการให้ความช่วยเหลือได้อย่างเป็นระบบ
![]()
![]()
![]()
นางนภา กล่าวต่อไปว่า กระทรวงฯ โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้บูรณาการการทำงานระหว่างหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบของ “กิจการเพื่อสังคม” เพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยการ “ปรับเปลี่ยนวิธีคิด” จากองค์กรที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม เป็น องค์กรที่มีวิธีการบริหารจัดการและมีธรรมาภิบาล โดยผลกำไรนำไปลงทุนกับมนุษย์และสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม สาธารณสุข และการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งปัจจุบันกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม ดังนี้ 1) ประกาศคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2561 และได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.dsdw.go.th 2) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2561 – 2564 รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และนำข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียมาประกอบการจัดทำร่างแผนกิจการเพื่อสังคมต่อไป 3) จัดงาน Kick off Social Enterprise : SE เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ ให้ภาคธุรกิจที่สนใจได้รับทราบและยื่นคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม 4) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม ซึ่งได้พิจารณาแบบคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม และแบบอื่นๆ ซึ่งมีผู้ยื่นขอรับรองและผ่านการรับรองคุณสมบัติ ทั้งสิ้น 15 องค์กร อาทิเช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้จ้างงานกลุ่มผู้ด้อยโอกาส คนไร้สัญชาติ กลุ่มชนเผ่า เพื่อผลิตและรับซื้อสินค้าอาหาร/เครื่องดื่ม เช่น แมคคาเดเมีย กาแฟ และหัตถกรรม เช่น เซรามิค กระดาษสา บริษัท วิสาหกิจสุขภาพชุมชน จำกัด ซึ่งสร้างอาชีพที่มั่นคงให้สตรีที่เคยต้องโทษ และเยาวชนจากพื้นที่เขาหัวโล้น เป็นอาชีพที่ลดผลกระทบของความเครียดจากที่ทำงาน หรือ Office Syndrome ด้วยการดัดจัดสรีระ และเคยได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม ปี 2560 บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นต้น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความร่วมมือเครือข่ายภาคเอกชน ภาคธุรกิจในการพัฒนาสังคม ในรูปแบบของ “กิจการเพื่อสังคม” เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ อันจะเป็นการสนับสนุนให้สังคมไทยเกิดความ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ต่อไป