Update Newsปฏิทินข่าวประชาสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมสังคม/CSR

กรมศิลปากร จัดกิจกรรมสักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า รับเทศกาลปีใหม่

 พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน : พิพิธทศปฏิมาอารยศิลป์



กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมศิลปากร ขอเชิญสักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน “พิพิธทศปฏิมาอารยศิลป์”  โดยมีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นประธาน  พร้อมอัญเชิญพระพุทธปฏิมาโบราณอีก ๙ องค์  ที่เก็บสงวนรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและมีแหล่งกำเนิดจากนานาประเทศที่มีพุทธศิลป์แตกต่างกัน  มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชาเนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๓ ระหว่างวันพุธที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ – วันอาทิตย์ที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๓ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  เวลา ๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ  

ประกอบด้วยพระพุทธรูปพุทธศิลป์ต่างๆ ตามลำดับคือ

          ๑.       พระพุทธสิหิงค์

                     ศิลปะสุโขทัย-ล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑

          ๒.       พระพุทธรูปประทานอภัย

                    ศิลปะอินเดีย แบบคันธาระ พุทธศตวรรษที่ ๖ – ๙

          ๓.       พระอมิตาภพุทธเจ้า (พระอมิดะเนียวไร)

                     ศิลปะญี่ปุ่น สมัยคามากุระ (พุทธศักราช ๑๗๒๘ – ๑๘๗๖)

          ๔.       พระพุทธรูปสมาธิ

                     ศิลปะลังกา สมัยโปลนนารุวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๒๐

          ๕.       พระพุทธศากยมุนี (เซ็กเกียมอนี้ฮุด)

                     ศิลปะจีน สมัยราชวงศ์หมิง (พุทธศักราช ๑๙๑๑ – ๒๑๘๗)

           ๖.       พระพุทธรูปทรงเครื่องมารวิชัย

                      ศิลปะพม่า สมัยนยองยาน พุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓

            ๗.      พระพุทธรูปมารวิชัย

                       ศิลปะลาว  พุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓

           ๘.       พระพุทธศากยมุนี

                      ศิลปะเวียดนามเหนือ สมัยราชวงศ์หลีตอนปลาย  พุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๔

            ๙.      พระพุทธรูปมารวิชัย

                      ศิลปะพม่า สมัยมัณฑะเลย์ ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕

          ๑๐.      พระพุทธรูปทรงเครื่องมารวิชัย

                     ศิลปะช่างเมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕

ติดต่อสอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓, ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒

พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์ ศิลปะสุโขไทย-ล้านนา
เลขทะเบียน                ๑

แบบศิลปะ/อายุสมัย      ศิลปะสุโขทัย-ล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑

ชนิด                        สำริด  กะไหล่ทอง

ขนาด                      สูงพร้อมฐาน  ๑๓๕  เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๖๓ เซนติเมตร  องค์พระสูง  ๗๙ เซนติเมตร 

ประวัติ                     สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ ๑) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๘  ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล

                              พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์  ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณของไทยทุกแห่ง  นับแต่กรุงสุโขทัย  เชียงใหม่  พระนครศรีอยุธยา ตราบเท่าถึงกรุงรัตนโกสินทร์  จึงสถิตเป็นมงคลแก่พระนครประจำ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล 

พระพุทธรูปประทานอภัย

พระพุทธรูปประทานอภัย ศิลปะอินเดีย
เลขทะเบียน               ต.ป.๑

แบบศิลปะ/อายุสมัย      ศิลปะอินเดีย แบบคันธาระ พุทธศตวรรษที่ ๖ – ๙

ชนิด                       ศิลา

ขนาด                      สูง ๔๑ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๒๙ เซนติเมตร

ประวัติ                     ได้มาจากประเทศอินเดีย  ห้างบอมเบเบอร์ม่า  ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สถานที่เก็บรักษา   ห้องศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

                           พระพุทธรูปปางประทานอภัยสลักจากศิลา แบบคันธาระนี้เป็นหนึ่งในรูปแบบของสกุลช่างที่สร้างพระพุทธรูปในระยะแรกๆ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย พระพักตร์มีลักษณะตามอุดมคติแบบกรีกและโรมัน ซึ่งเน้นความเสมือนจริงตามหลักกายวิภาค  ห้างบอมเบเบอร์ม่า  น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระพุทธรูปประทานอภัยองค์นี้เคยประดิษฐาน ณ มุขกลางของพลับพลาจตุรมุขด้านหลังพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ในงานนักขัตฤกษ์นมัสการพระพุทธชินราช ประจำปีรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒ (พุทธศักราช ๒๔๔๖) อีกด้วย

 พระอมิตาภพุทธเจ้า (พระอมิดะเนียวไร)

พระอมิดะเนียวไร พระอมิตาภพุทธเจ้า ศิลปะญ
เลขทะเบียน               ต.ป.๘๐

แบบศิลปะ/อายุสมัย      ศิลปะญี่ปุ่น สมัยคามากุระ พุทธศักราช ๑๗๒๘ – ๑๘๗๖

ชนิด                       สำริด

ขนาด                      สูงพร้อมฐาน ๗๙ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๓๖ เซนติเมตร

ประวัติ                     ของหลวงพระราชทาน เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๔๖๙

สถานที่เก็บรักษา    ห้องศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

                            พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย แสดงธยานมุทราโดยนิ้วหัวแม่มือจดกับนิ้วชี้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระอมิตาภะแบบญี่ปุ่นที่แสดงถึงการชี้นำดวงวิญญาณสู่นิพพาน  พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าที่พุทธศาสนิกชนชาวญี่ปุ่นนับถือมากที่สุดรองจากพระศากยมุนี  (พระชะกะเนียวไร)  ด้านหลังพระพุทธปฏิมาสลักอักษรคะตะคะนะกับฮิรางะนะเป็นภาษาญี่ปุ่นความว่า “อุทิศโดยคุณนิชิวากิ เคนจิ เขตโอจิยะ เมืองอีจิโกะ [ปัจจุบันคือ เมืองนีงาตะ] ปีเมจิที่ ๔๐ เดือน ๔ วันที่ ๗ (วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๐)”   กลีบบัวที่ฐานด้านหลังสลักอักษรโรมัน ภาษาอังกฤษว่า “K.NISHIWAKI THE DONOR” แปลว่า คุณเค. นิชิวากิ เป็นผู้ถวาย 

พระพุทธรูปสมาธิ

พระพุทธรูปสมาธิ ศิลปะลังกา
เลขทะเบียน               ตป.๕

แบบศิลปะ/อายุสมัย      ศิลปะลังกา สมัยโปลนนารุวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๘– ๒๐

ชนิด                       สำริดปิดทอง

ขนาด                      สูงพร้อมฐาน ๒๘.๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๒๐.๕ เซนติเมตร

ประวัติ                     ของหลวงพระราชทานมาเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙ เดิมได้มาจากเมืองเชียงราย

สถานที่เก็บรักษา   ห้องศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

                            พระพุทธรูปสมาธิองค์นี้  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานมาเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๔๖๙ เดิมได้มาจากเมืองเชียงราย   “สมัยโปลนนารุวะ” เป็นยุคทองของศิลปะลังกา  พระพุทธรูปในยุคนี้มีลักษณะพระพักตร์ที่สงบนิ่ง  มีพระรัศมีทรงเตี้ย พระอังสากว้าง พระอุระหนา พระพาหาใหญ่ และได้ให้อิทธิพลแก่พุทธศิลป์สมัยสุโขทัยของไทยด้วย  

พระพุทธศากยมุนี (เซ็กเกียมอนี้ฮุด)

เซ็กเกียมอนี้ฮุด พระพุทธศากยมุนี ศิลปะจี
เลขทะเบียน               ต.ป.๒๘

แบบศิลปะ/อายุสมัย      ศิลปะจีน สมัยราชวงศ์หมิง พุทธศักราช ๑๙๑๑ - ๒๑๘๗

ชนิด                       สำริดปิดทอง    

ขนาด                      สูงพร้อมฐาน ๖๒ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๓๔ เซนติเมตร

ประวัติ                     เดิมประดิษฐานที่หอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง ย้ายมาในพิพิธภัณฑสถานเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๐

สถานที่เก็บรักษา   ห้องศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

                           พระพุทธรูปปางมารวิชัย ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วธรรมชาติ เปิดพระอุระเบื้องขวาและมีจีวรคลุมพระอังสาและพระพาหาขวา พระพุทธปฏิมานี้ สันนิษฐานว่าเป็น พระศากยมุนีพุทธเจ้า ที่ชาวจีนเรียกว่า “เซ็กเกียมอนี้ฮุด” ปกติจะนิยมทำเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ ทั้งขัดสมาธิราบและขัดสมาธิเพชร แต่องค์นี้มีลักษณะพิเศษคือ แสดงภูมิสปรศมุทรา ประทับนั่งบนสิงหาสนะ (บัลลังก์สิงห์) อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ว่า ทรงเป็นสิงห์แห่งวงศ์ศากยะ

พระพุทธรูปทรงเครื่องมารวิชัย

พระพุทธรูปทรงเครื่องมารวิชัย ศิลปะพม่า
เลขทะเบียน                ตป.๑๕

แบบศิลปะ/อายุสมัย       ศิลปะพม่า สมัยนยองยาน พุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓

ชนิด                        สำริด

ขนาด                      สูงพร้อมฐาน ๓๒.๓ เซนติเมตร ตักกว้าง ๒๐ เซนติเมตร

ประวัติ                     พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มาเมื่อคราวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช ๒๔๖๙ พระราชทานมาเมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๔๖๙

สถานที่เก็บรักษา   ห้องศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

                            พระพุทธรูปทรงเครื่องประทับขัดสมาธิเพชร (วัชราสนะ) แสดงปางมารวิชัย  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มาเมื่อคราวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช ๒๔๖๙ พระราชทานมาเมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๔๖๙  ตามเอกสารของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดศิลปะพระพุทธรูปองค์นี้เป็น “ฝีมือช่างเชียงรุ้ง” โดยลักษณะพิเศษของพระพุทธรูปกลุ่มนี้คือ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ทรงอุณหิศหรือเครื่องประดับพระเศียรที่มีแผ่นกระจังขนาดใหญ่และมีแถบผ้าที่เบื้องหลังของพระกรรณ ทรงกุณฑลขนาดใหญ่ และหากครองจีวรห่มเฉียงจะมีสังฆาฏิยาวจรดพระนาภีปลายสังฆาฏิตัดตรง

พระพุทธรูปมารวิชัย

พระพุทธรูปมารวิชัย ศิลปะลาว
เลขทะเบียน              ๑๘/๓๕๓/๒๕๑๖

แบบศิลปะ/อายุสมัย     ศิลปะลาว  พุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓

ชนิด                      สำริด  ปิดทอง

ขนาด                    สูงพร้อมฐาน ๖๗ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๒๖ เซนติเมตร

ประวัติ                   สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่งไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๔

สถานที่เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่

                           พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย  กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓  ช่วงเวลานี้อาณาจักรล้านช้างมีความเจริญรุ่งเรืองมีการสร้างพระพุทธรูปสำริดที่มีจารึกศักราชและผู้สร้างจำนวนมาก  สำหรับพุทธลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปลาวที่ปรากฏ อาทิ  พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระโอษฐ์เล็ก แย้มมุมพระโอษฐ์เล็กน้อย มีร่องเหนือพระโอษฐ์ซึ่งเชื่อมต่อลงมาจากพระนาสิก  มีแนวเส้นไรพระศก  เม็ดพระศกแหลมเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวขนาดใหญ่ ประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงายที่มุมฐานบัวตวัดขึ้น หรือที่เรียกว่า “บัวงอน”

พระพุทธศากยมุนี

พระพุทธศากยมุนี ศิลปะเวียดนามเหนือ
เลขทะเบียน               ๖๖

แบบศิลปะ/อายุสมัย      ศิลปะเวียดนามเหนือ สมัยราชวงศ์หลีตอนปลาย  พุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๔

ชนิด                       หยก

ขนาด                      สูง ๒๐ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๑๒.๕ เซนติเมตร

ประวัติ                     เป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาแต่เดิม

สถานที่เก็บรักษา  ห้องศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

                           พระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ  แสดงลักษณะเฉพาะของพุทธประติมาเวียดนามคือ ครองจีวรห่มคลุม ทิ้งชายลงจากบ่าทั้งสองข้างเท่ากัน แต่พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในช่วงเวลานี้จะเผยให้เห็นพระอุระ และขอบสบงชัดเจนอันเป็นอิทธิพลรูปแบบทางศิลปะจากราชวงศ์หมิงของจีน

พระพุทธรูปมารวิชัย

พระพุทธรูปมารวิชัย ศิลปะพม่า สมัยมัณฑะเล
เลขทะเบียน                ๖

แบบศิลปะ/อายุสมัย       ศิลปะพม่า แบบมัณฑะเลย์ ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕

ชนิด                        หินอ่อน โลหะปิดทองประดับกระจก

ขนาด                      สูงพร้อมฐาน ๘๙ เซนติเมตร ตักกว้าง ๓๔.๕ เซนติเมตร

ประวัติ                     เป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาแต่เดิม

สถานที่เก็บรักษา    พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

                          พระพุทธรูปมารวิชัยสลักจากหินอ่อน พุทธลักษณะสำคัญที่แสดงถึงศิลปะพม่า แบบมัณฑะเลย์ คือ ที่พระพักตร์มีกระบังหน้า ทรงครองจีวรเป็นริ้วธรรมชาติ พระพุทธรูปห่มเฉียงบนพระอังสาซ้ายมีชายจีวรตกลงมายาวจนถึงพระนาภี ปลายจีวรเล่นลวดลายให้ชายผ้าทบไปมามากจนดูผิดธรรมชาติ  ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานการสั่งและนำเข้าพระพุทธรูป  หินอ่อนสีขาวจากพม่าด้วย ที่สำคัญคือ พระพุทธเทววิลาส พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ วัดเทพธิดาราม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นพระพุทธรูปประธานในพระอารามแห่งนี้  ก็เป็นพระพุทธรูปที่สลักด้วยหินอ่อนสีขาวโดยช่างพม่า

พระพุทธรูปมารวิชัยทรงเครื่อง

พระพุทธรูปทรงเครื่องมารวิชัย
 เลขทะเบียน              ๒๕๗๓๒/๒๔๘๕

แบบศิลปะ/อายุสมัย     ศิลปะช่างเมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕

ชนิด                      ทองคำ 

ขนาด                    สูงพร้อมฐาน ๒๔.๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๘ เซนติเมตร

ประวัติ                   เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) สร้างถวายวัดหลวงปรีชากูล จังหวัดปราจีนบุรี และนำมาประดิษฐานวัดพระศรีมหาธาตุ  ต่อมาพันตรีควง อภัยวงศ์ มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

สถานที่เก็บรักษา  คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

                            พระพุทธรูปทรงเครื่องมารวิชัย  เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์)  ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ภายใต้พระราชอำนาจของราชอาณาจักรสยาม  สร้างถวายวัดหลวงปรีชากูล  อำเภอเมืองปราจีนบุรี  จังหวัดปราจีนบุรี  และได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร  ต่อมาพันตรีควง  อภัยวงศ์ มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร