Update Newsธุรกิจท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรม

กรมศิลปากร นำนาฏศิลป์และดนตรีไทยเยือนซากะ ร่วมงาน “เทศกาลไทย ครั้งที่ 1”

วันพุธที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ โรงละครแห่งชาติ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในการแถลงข่าวการจัดแสดงนาฏศิลป์และดนตรีไทยในงานเทศกาลไทย ครั้งที่ ๑ ณ จังหวัดซากะ ประเทศญี่ปุ่น (Thai Festival in SAGA 2018) ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๑

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร และจังหวัดซากะ ประเทศญี่ปุ่น (The Saga Prefectural Government) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ และในปี ๒๕๖๑ นี้ จังหวัดซากะได้จัดงานเทศกาลไทย ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ณ บริเวณลานจัดงานข้างห้องสมุดจังหวัดซากะ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยน



ทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและเมืองซากะ และประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักต่อชาวญี่ปุ่นในภูมิภาคคิวชู รวมทั้งเนื่องในโอกาสการเปิดทำการสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟุกุโอกะ ภายในงานจัดให้มีการแสดงทางวัฒนธรรมไทย การออกร้านจากหน่วยงานต่างๆ การสาธิตอาหารไทย งานหัตถกรรมไทย และนวดไทยแผนโบราณ โดยกรมศิลปากรได้นำคณะนาฏศิลป์และดนตรีไทย จำนวน ๒๐ คน เข้าร่วมจัดการแสดงทางวัฒนธรรม

ซึ่งถือว่าเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมในการใช้มิติทางวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ เสริมสร้างภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของประเทศไทยและนำความเป็นไทยสู่สากล รวมถึงจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การลงทุนและการส่งออกระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น 



นายเอนก อาจมังกร ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กล่าวว่า สำนักการสังคีตได้จัดการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีไทยไปร่วมแสดงในครั้งนี้ จำนวน ๕ ชุด ประกอบด้วย การรำอวยพร แสดงออกถึงความมีไมตรีจิต และอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก

คุ้มครองให้ปราศจากภยันตรายทั้งปวง ประสบความสุขความเจริญ สมหวังในสิ่งที่พึงประสงค์ทุกประการ นักแสดงจะแต่งกายยืนเครื่อง ที่มีความประณีต งดงาม ผู้แสดงสมมติเป็นเทวดา นางฟ้าออกรำเพื่อเฉลิมฉลองมิตรภาพอันยาวนานระหว่างญี่ปุ่นและประเทศไทย

โขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดยกรบ เป็นการทำสงครามระหว่างพระราม พระลักษมณ์  และพลวานร กับทศกัณฐ์ พญายักษ์แห่งกรุงลงกา การรบของทั้งสองฝ่ายเต็มไปด้วยชั้นเชิงของลีลาท่ารำกระบวนการรบและความสามารถที่มีเอกลักษณ์ประณีตงดงามในการแสดงโขนซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูง

การแสดงเดี่ยวระนาด ระบำสี่ภาค เป็นการนำกระบวนท่ารำเฉพาะของนาฏศิลป์ประจำภาคต่าง ๆ มาเรียงร้อยตามท่วงทำนองเพลงดนตรี คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ มาแสดงติดต่ออยู่ในชุดเดียวกัน

การแสดงขบวนแห่นางนพมาศในเทศกาลลอยกระทง เป็นการแสดงชุดใหม่ที่สวยงามมีเนื้อหากล่าวถึงบรรดาชายหญิงต่างมาร่วมลอยกระทง พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานต่อพระแม่คงคาและแสงจันทร์ให้ประทานความสมัครสมานสามัคคี ความสุขสวัสดี ความสงบร่มเย็น ให้เกิดแก่ชาวไทย