กรมหม่อนไหม สนองนโยบายรัฐฯ “การตลาดนำการผลิต” นำร่อง 7 จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมหม่อนไหม ร่วมสนองนโยบายรัฐฯ จัดงานแถลงข่าว "การตลาดนำการผลิตสินค้าหม่อนไหมแบบครบวงจร ประจำปีงบประมาณ 2562" เพื่อสร้างความเข้าใจในนโยบายการตลาดนำการผลิตและระบบเกษตรพันธสัญญาส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้เกิดรายได้ที่แน่นอนและมั่นคง นำร่องไปแล้วในพื้นที่ 7 จังหวัด จำนวน 800 ราย ผลผลิตรวม จำนวน 200 ตัน มูลค่าผลผลิตรวมคิดเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบาย "การตลาดนำการผลิต" เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้แน่นอนและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยให้หน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคดำเนินการร่วมกันอย่างบูรณาการ รวมทั้ง ให้แสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากภาคเอกชนในการประสานข้อมูลความต้องการด้านการตลาด จับคู่กับภาคการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเพื่อให้สามารถวางแผนการผลิตทั้งในเชิงปริมาณคุณภาพ มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด ลดปัญหาทั้งกรณีสินค้าเกษตรล้นตลาดและไม่เพียงพอ กอรปกับในปัจจุบันมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2560 เรียบร้อยแล้ว โดยกรมหม่อนไหมเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สนับสนุนเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และเกิดความมั่นคงในอาชีพด้านหม่อนไหม และเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจในนโยบายการตลาดนำการผลิตและระบบเกษตรพันธสัญญา และได้รับทราบถึงความร่วมมือในการขับเคลื่อนระบบเกษตรพันธสัญญาด้านหม่อนไหมอย่างเป็นรูปธรรม และจากการพัฒนาการเกษตรตามหลักตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขยายผลความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย จากภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตรในจังหวัด (GPP ภาคการเกษตร) เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดและของประเทศในภาพรวมเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายของรัฐบาล ทางด้าน นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวเสริมว่า "ทางกรมหม่อนไหมได้สนองนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเต็มกำลัง ดำเนินการนำร่องในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ น่าน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ นครราชสีมา และจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีผู้ประกอบการขานรับนำร่องนโยบายการตลาดนำการผลิตดังกล่าว จำนวน 5 บริษัท ใน 4 ชนิดสินค้า ประกอบด้วย (1) สินค้ารังไหม ได้แก่ บริษัท จุลไหมไทย จำกัด และบริษัท ขอนแก่นสาวไหม จำกัด (2) สินค้าหนอนไหม ได้แก่ บริษัท เอ็นทีจีเอส คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (3) สินค้าเส้นไหม ได้แก่ ร้านฅญาบาติก และ (4) สินค้าแผ่นใยไหม ได้แก่ บริษัท ไทยซิลค์ โปรดักส์ จำกัด โดยผู้ประกอบการทั้งหมดดำเนินการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าในแต่ละชนิดสินค้าอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยมีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ในการนำร่องขับเคลื่อนนโยบายการตลาดนำการผลิตสินค้าหม่อนไหมในพื้นที่ 7 จังหวัดครั้งนี้ จำนวน 800 ราย ผลผลิตรวมของทุกชนิดสินค้าหม่อนไหม จำนวน 200 ตัน มูลค่าผลผลิตรวมที่เกิดขึ้นเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท" นอกจากนี้ กรมหม่อนไหมได้ดำเนินการสร้างการรับรู้ในเรื่องพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ บุคลากรของกรมหม่อนไหม เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีในการดำเนินการตกลงซื้อขายผลผลิตตามพระราชบัญญัติ ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่งานด้านหม่อนไหมร่วมกันกับทุกฝ่ายอีกด้วย