กรมอุทยาน ฯ ปล่อยละอง-ละมั่งพันธุ์ไทย คืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 10
20 ก.ค.61 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดโครงการปล่อยละอง-ละมั่ง พันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา 28 กรกฎาคม 2561 ณ ทุ่งกบาลกระไบ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ โดยมี พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน และมีนายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต้อนรับ การจัดกิจกรรมในวันนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน จิตอาสา และอาสาสมัครต่างๆในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1300 คน ทั้งนี้นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการฯ ว่า เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา 28 กราคม 2561 และยังเป็นการฟื้นฟูและสร้างความสมดุลทางธรรมชาติพร้อมกับห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศด้วยการเพิ่มความหลากหลายของสัตว์ป่าให้กับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก และยังเป็นการสร้างแนวร่วม จิตอาสาประชารัฐให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้มีความมั่นคงและยังยืนตลอดไป สำหรับกิจกรรมในการจัดงานในครั้งนี้ประกอบด้วย การปล่อยสัตว์ป่า จำนวน 3 ชนิด คือ ละองละมั่งพันธุ์ไทย ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย จำนวน 10 ตัวไก่ฟ้าพญาลอ จำนวน 50 ตัว และไก่ฟ้าหลังขาวจำนวน 7 ตัว รวมทั้งสิ้น 67 ตัว และร่วมกันปลูกไม้ตระกูลหว้า ไทร และไผ่ ซึ่งเป็นพืชอาหารสำหรับสัตว์ป่า ร่วมกันสร้างแหล่งน้ำให้กับสัตว์ป่า จำนวน 3 แห่ง ซึ่งเป็นความร่วมมือของจิตอาสา ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมกว่า 200 คน มีการจัดทำโป่งเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาหารเสริมแก่สัตว์ป่าโดยนักเรียนและเยาวชนจิตอาสาในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการมอบพ่อแม่พันธุ์หมูป่า รวม 13 ตัว ให้แก่ราษฎรในพื้นที่นำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ ซึ่งจากการมอบพ่อแม่พันธุ์หมูป่าให้กับราษฎรในพื้นที่ไปก่อนหน้านี้ ได้มีการเลี้ยงและขยายพันธุ์จนประสบความสำเร็จ สามารถขยายพันธุ์จนนำพ่อแม่พันธุ์หมูป่ากลับมาคืนให้กับทางราชการจำนวนหลายราย สำหรับพื้นที่แห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2558 -2559 ได้มีการปล่อยสัตว์ป่าจำนวนหลายชนิด เช่น กวาง เนื้อทราย นกยูง และอื่นๆ รวมกว่า 605 ตัว จากการติดตามผลสัตว์ป่าที่ปล่อย ด้วยกล้อง Camera cap ซึ่งสามารถเห็นพฤติกรรมการหากิน แหล่งที่อยู่อาศัย และการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นในพื้นที่ ยังพบสัตว์ป่าชนิดอื่นๆไม่ว่าจะเป็น กระจง แมวดาว ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือของจิตอาสาจากทุกภาคร่วมมือกันปกป้องดูแลรักษาร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี