กรมเจ้าท่าฟื้นชายหาดพัทยา คืนความสุขให้ประชาชน
กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ทุ่มงบประมาณกว่า 429 ล้านบาท ปรับโฉมชายหาดพัทยา ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร แล้วเสร็จสมบูรณ์ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ช่วยฟื้นคืนชายหาดพัทยาให้สวยงาม เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ “ฟื้นชายหาดพัทยา คืนความสุขให้ประชาชน" โดยมี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า, นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา, นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และ ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ร่วมงาน ณ บริเวณชายหาดพัทยากลาง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันก่อน นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า โครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา เกิดขึ้นเพราะสภาพชายหาดเมืองพัทยา ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญด้านการท่องเที่ยว กำลังประสบปัญหาชายหาดมีสภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก เนื่องจากถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงถึงกว่า 5 เมตรต่อปี และหากปล่อยทิ้งไว้ อาจส่งผลให้ชายหาดบางช่วงขาดหายไปภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ดังนั้นจึงได้มีนโยบายเร่งด่วน เดินหน้าโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา ตั้งแต่ชายหาดพัทยาเหนือ บริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี จนถึงชายหาดพัทยาใต้ บริเวณ วอล์คกิ้ง สตรีท รวมระยะทางประมาณ 2.8 กิโลเมตร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจริมชายหาดเมืองพัทยา ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากปัญหาชายหาดที่สูญหายไป และเพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพชายหาด พร้อมทั้งปรับทัศนียภาพชายฝั่ง ให้น่าท่องเที่ยว ดึงดูดผู้มาเยี่ยมเยือนได้มากยิ่งขึ้น โครงการก่อสร้างเสริมทรายชายหาดพัทยา จังหวัดชลบุรี ได้รับงบประมาณจำนวน 429,054,242.92 บาท กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้าง บริษัท กิจการร่วมค้า มารีน คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยเริ่มปฏิบัติงานก่อสร้างตั้งแต่เดือน เมษายน 2561 และดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 โดยใช้แหล่งทรายจาก ใต้ท้องทะเลลึกบริเวณทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน ซึ่งอยู่ห่างจากทิศใต้ของเกาะล้านออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นแหล่งทรายที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและสวยงาม ขั้นตอนการก่อสร้างโดยสรุปคือ ทำการดูดทรายจากใต้ท้องทะเลลึกนอกชายฝั่งด้วยเรือดูดทราย (DREDGER) ทรายจะถูกส่งผ่านตะแกรงร่อนพร้อมล้างและคัดแยกสิ่งแปลกปลอมออก แล้วถูกส่งต่อไปยังท้องของเรือดูดทราย เมื่อดูดทรายจนเต็มลำเรือแล้ว เรือดูดทรายจะขับเคลื่อนด้วยตัวเองไปยังเรือพ่นทรายอีกลำที่จอดรออยู่บริเวณหน้าอ่าวพัทยา ห่างจากชายฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร ขนย้ายทรายจากเรือดูดทรายสู่เรือพ่นทราย แล้วทำการพ่นทรายผ่านท่อเหล็กขึ้นบนพื้นที่ชายหาดที่ปิดกั้นแนวไว้ในระยะ 300 เมตร ก่อนทำการเกลี่ยและบดอัดหน้าทราย เมื่อได้สภาพชายหาดทรายตามรูปแบบแล้วจึงคืนชายหาด เปิดใช้งานได้ตามปกติ ทั้งนี้ การปฏิบัติงานจะเป็นไปตามมาตรการสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ดี เมื่อทำการเสริมทรายชายหาดแล้วเสร็จ จากผลการศึกษาพบว่าทราย จะค่อยๆ ถูกคลื่นลมพัดพาหายไปและต้องทรายกลับมาเสริมเติมชายหาดเป็นระยะๆ โดยจากการพิจารณา ผลการศึกษาร่วมกับการประเมินจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างจริงหลังแล้วเสร็จคาดการณ์ว่า จะต้องมีการนำทรายกลับมาเสริมเติมชายหาดในทุก ๆ 5-10 ปี ปัจจุบันการฟื้นฟูบูรณะชายหาดพัทยาเสร็จสิ้น ชายหาดพัทยาเหนือจรดใต้จะมีขนาดหาดทรายกว้างอย่างน้อย 35 เมตร โดยมีพื้นที่กันชน (Buffer Zone) เพื่อป้องกันพายุหรือคลื่นที่รุนแรงมากกว่าปกติและใช้เป็นแนวเฝ้าระวังเตือนการบำรุงรักษาชายหาดกว้างประมาณ 15 เมตร ทำให้ชายหาดพัทยาในปัจจุบันกลับมาสวยงามและสามารถใช้เป็นพื้นที่สันทนาการได้ดีกว่าเดิม มีหน้าหาดกว้าง สามารถใช้ประโยชน์ในธุรกิจ การท่องเที่ยว และจัดกิจกรรมชายหาดต่างๆ ก่อให้เกิดรายได้ต่อประชาชน เทศบาลเมืองพัทยา และภาคธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จากผลการศึกษาพบว่า การดำเนินโครงการ ดังกล่าว มีความคุ้มค่า เงิน 1 บาทที่ลงทุนไปในการเสริมชายหาดพัทยา จะสร้างเม็ดเงินกลับคืนมาในระบบประมาณ 37 บาท ผลประโยชน์และความสำเร็จเชิงประจักษ์ของโครงการ แสดงให้เห็นได้ชัดจากการที่โครงการแล้วเสร็จใจช่วงต้นปี 2562 ยอดจองโรงแรมและที่พักในเมืองพัทยาอยู่ในอัตราที่สูงมาก ชายหาดพัทยามีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินจำนวนมหาศาลาสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและสู่ประเทศไทยได้ อย่างต่อเนื่อง จากผลความสำเร็จของโครงการดังกล่าว กรมเจ้าท่าจะได้ต่อยอดโครงการในลักษณะเดียวกัน โดยได้ทำการของบประมาณปี 2563 เพื่อก่อสร้างเสริมทรายชายหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี ระยะที่ 1 ความยาวชายหาดประมาณ 7 กิโลเมตร และจะประยุกต์แนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยการเสริมทราย ไปยังพื้นที่ชายหาดทรายที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะ จุดอื่นๆ ต่อไปด้วย เช่น ชายหาดบางแสน ชายหาดชะอำ ชายหาดเขาหลัก เป็นต้น