Update Newsการตลาดสังคม

กสก. ดันเกษตรกรจิ้งหรีดไข่-ไผ่เขียวอีสาน สู่แปลงใหญ่ที่มีศักยภาพ

กรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่แปลงใหญ่ “จิ้งหรีดไข่-ไผ่เขียวอีสาน” ขับเคลื่อนเต็มสูบสู่แปลงใหญ่ที่มีศักยภาพ พร้อมแนะแนวทางการเชื่อมโยงตลาด ตั้งเป้าปี’62 เกษตรกรจะเข้มแข็ง สามารถจัดการการผลิตตรงกับความต้องการตลาด ต้นทุนลดลง คุณภาพผลผลิตสูงขึ้น และมีเสถียรภาพด้านรายได้เพิ่มขึ้น


 



นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของเกษตรแปลงใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา โดยระบุว่า โครงการเกษตรแปลงใหญ่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2559 พบว่าเกษตรกรตอบรับเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขในปี 2559 มีจำนวนแปลงใหญ่เข้าร่วมโครงการ 597 แปลง ในพื้นที่ 1,403,438.41 ไร่ รวมเกษตรกรจำนวน 95,169 ราย เพิ่มขึ้นในปี 2560 มีจำนวนแปลงใหญ่ใหม่อีก 1,934 แปลง พื้นที่ 1,965,875 ไร่ เกษตรกรรายใหม่ 153,789 ราย

ขณะที่ในปีนี้ (พ.ศ. 2561) ตามเป้าหมายดำเนินงานตั้งเป้าเพิ่มจำนวนแปลงใหญ่อีก 1,838 แปลง ซึ่งข้อมูลล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นแล้ว 1,636 แปลง พื้นที่รวมกว่า 1.85 ล้านไร่ รวมจำนวนเกษตรกรรายใหม่ 74,483 ราย จึงมั่นใจว่าการดำเนินงานในปีนี้ จะมีแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ จึงนับเป็นความสำเร็จของนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ที่รัฐบาลผลักดัน เพราะนอกจากจำนวนเกษตรกรรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังพบว่าผลสำเร็จของโครงการเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ ทั้งในด้านการลดต้นทุน และการเพิ่มผลผลิต ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

ด้านนายสาย เปร็นรัมย์ ประธานแปลงใหญ่จิ้งหรีดไข่ บ้านหนองเม็ก อ.โคกสูง จ.สระแก้ว กล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการเลี้ยงจิ้งหรีดแปลงใหญ่เมื่อปี 2560 มีสมาชิก 50 ราย สินค้าหลักเป็นจิ้งหรีดไข่สด ซึ่งนับเป็นแมลงเศรษฐกิจที่นิยมบริโภค กันอย่างแพร่หลายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นแมลงที่มีรสชาติอร่อย มีโปรตีนสูง อีกทั้งยังมีความต้องการทางตลาดสูง 

ปัจจุบันสามารถผลิตป้อนตลาดได้สูงถึงวันละ 1,000 กิโลกรัม โดยส่งตลาดโรงเกลือในจังหวัดสระแก้วเป็นหลัก (ประมาณร้อยละ 80) พบว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในโครงการเพิ่มขึ้นจากอาชีพหลักได้เป็นอย่างดี (เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5,000 ต่อคน ต่อเดือน) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสูตรด้วยการปรุงเพิ่มรสชาดต่าง ๆ บรรจุกระป๋อง และยื่นขอ อย. พร้อมปรับบรรจุภัณฑ์เพื่อที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้า และสามารถเก็บได้นานยิ่งขึ้น ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายในปี 2562 พร้อมเจาะตลาดขายที่ซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำ และเซเว่น อีเลฟเว่นได้ในอนาคต





ส่วนนายสุรสิทธิ์ พลชู ประธานแปลงใหญ่ไผ่เขียวอีสาน อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกลุ่มเพิ่งเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ไผ่เขียวอีสานเมื่อปี 2561 มีสมาชิกรวม 30 ราย โดยในปีที่ผ่านมาราคาตลาดหน่อไผ่เขียวอีสานขายเฉลี่ยเพียง 14 บาทต่อกิโลกรัม และหลังจากที่เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ โดยรัฐบาลได้เข้ามาสนับสนุนด้านการบริหารจัดการ และเงินทุน 

คาดว่าภายในปี 2562 จะสามารถทำราคาได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งเป้าจะสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ถึงร้อยละ 20 ด้วยการคัดคุณภาพผลผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุให้ทันสมัย พร้อมส่งขายโมเดิรน์เทรด และสามารถเจาะกลุ่มตลาดจีน และญี่ปุ่นได้

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้พัฒนาและสนับสนุนเกษตรกรให้มีการบริหารจัดการร่วมกัน นำไปสู่การลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต เพราะหากเกษตรกรบริหารจัดการดีภายใต้การสนับสนุนและบูรณาการจากรัฐบาล รวมทั้งแรงหนุนจากภาคเอกชนที่เข้ามาส่งเสริมด้านการตลาด การวิจัย พัฒนา นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการเกษตร ก็จะทำให้การบริหารต้นทุน และรายได้ของเกษตรกรมีเสถียรภาพมากขึ้น เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันในอนาคตได้ นายสำราญกล่าวในที่สุด