กอ.รมน.ประชุมแผนบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมืองและผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ
เมื่อวันที่ 23 พ.ย.66 ที่ผ่านมา พลโทบรรยง ทองน่วม รองเลขาธิการ กอ.รมน. เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมือง และผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ระยะที่ 2 พ.ศ.2566-2570 จัดโดย ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่2 กอ.รมน. ในการนี้มีส่วนราชการจากภายในและภายนอกรวม 23 หน่วยงานเข้าร่วม อาทิ ผู้แทน กอ.รมน. กระทรวงการต่างประเทศ แรงงาน สาธารณสุข กลาโหม วัฒนธรรม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง DSI รวมถึง หน่วยงาน NGO องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ของสหประชาชาติ และองค์การอินเตอร์เนชั่นแนลเรสคิว คอมมิตตี (IRC) รวมถึงส่วนราชการอื่นๆ กว่า 70 คน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมบอลลูม2 โรงแรมดิไอเดิล เรสซิเดนซ์ จ.ปทุมธานี การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ จัดขึ้นในห้วงระหว่างวันที่ 23-24 พ.ย.66 โดยมีการบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ในการจัดทำแผนปฏิบัติการ แบ่งกลุ่มอภิปรายเพื่อระดมความคิดเห็น และนำข้อมูลที่ได้มาถกแถลง กำหนดแนวทาง ในการจัดทำแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมือง และผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติฯ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล กลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย กลุ่มเปราะบางต่อความมั่นคง และกลุ่มอื่นๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองเป็นไปอย่างประสานสอดคล้อง โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งผลที่ได้จากการประชุมจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงใช้เป็นกรอบแนวทางในการอำนวยการ ประสานงานการบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมืองให้เป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ กอ.รมน. ในฐานะองค์กรหลักในการบูรณาการการป้องกัน และแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองและผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จะนำผลและข้อมูลจากการประชุมในครั้งนี้ รวบรวมจัดทำเป็น(ร่าง)แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมืองและผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) โดยผ่านกระบวนการเห็นชอบจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นจึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ พร้อมกำหนดเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป