การก่อเกิดงานศิลปะของหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี โดยอุไร เบญจรงค์
ที่มาของหมู่บ้านเบญจรงค์
จากชุมชนเล็กๆที่แทบไม่เป็นที่รู้จักตั้งอยู่ ณ ตำบลดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้กลายเป็นแหล่งชุมชนวิถีที่สำคัญยิ่งด้านสายศิลปะการเขียนงานเบญจรงค์ ซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มแม่บ้านเพียงไม่กี่คนเมื่อหลายสิบปีก่อน หนึ่งในผู้รวบรวมชาวบ้านสานต่อลายศิลป์บนผืนผิวเซรามิกที่เรียกขานกันว่า เบญจรงค์นี้คือ คุณอุไร แตงเอี่ยม ประธานกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี ผู้ที่สร้างชีวิตให้กับผู้คนในท้องถิ่นได้ภาคภูมิใจในศิลปะของบรรพบุรุษอย่างเต็มภาคภูมิ ก้าวแรกเล็กๆ กลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2525 ครั้งนั้นคุณอุไรและพี่สาว เป็นพนักงานเขียนลายเซรามิกอยู่ในโรงงานเซรามิกย่านอ้อมน้อย ปรากฎว่าโรงงานประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ต้องล้มเลิกกิจการ พนักงานถูกลอยแพ เธอและเพื่อนคนงานไม่ได้รับความเป็นธรรม เกิดการรวมตัวกันและเดินทางไปประท้วงอยู่ที่หน้ารัฐสภา จากพนักงานโรงงาน เคยแต่นั่งเขียนลายศิลปะบนชามเชิงกลับต้องไปนั่งนอนตากแดด เพื่อขอความเป็นธรรมอยู่นานนับเดือนอยู่ริมถนนในกรุงเทพมหานคร แต่กลับไม่เป็นผล ไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐแม้เพียงน้อยนิด เธอเริ่มคิดถึงอนาคตว่าหากยังคงนั่งประท้วงอยู่อย่างนั้นอดตายแน่ เธอและพี่สาวจึงตัดสินใจกลับมาบ้านเกิด ที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร และเริ่มตั้งต้นชีวิตใหม่ เริ่มทำงานที่ตนเองถนัดอีกครั้งหนึ่ง ก้าวที่กล้า ครั้งนั้นมีเพียงคุณอุไร และพี่น้องที่ร่วมกันเขียนลาย ด้วยเพราะการทำเครื่องเบญจรงค์เป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ขั้นตอนการผลิตถึง 9 ขั้นตอน จึงเริ่มมองหาเด็กๆที่ตกงานนำมาสอนและฝึกงานให้ จากห้าคนเป็นสิบคนและเป็นยี่สิบคน รวมทั้งชักชวนเพื่อนบ้านในชุมชนมาหัดลงสี พี่ๆน้องๆช่วยกันเขียนลายซึ่งเคยได้รับการเรียนรู้วิธีเขียนลายจากช่างชาวจีนที่เคยถูกเชิญมาสอนเมื่อครั้งทำงานที่โรงงานเดิม จากบ้านไม้เล็กๆ ของคุณตาขนุนและคุณยายซิว เริ่มขยับขยายเพิ่มบริเวณสำหรับเขียนลาย ลงสีเพื่อนบ้านใกล้เคียงในชุมชนเริ่มรับงานไปทำที่บ้านชีวิตยังคงดำเนินต่อไปอย่างเรียบง่าย ศิลปินพื้นบ้านยังคงสานต่องานศิลป์เบญจรงค์ห้าสีอย่างเงียบๆ ชีวิตชุบชีวิต จนกระทั่งปี 2534-2536 ภาคใต้ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ หลายชีวิตผกผัน เด็กไร้พ่อ พี่ไร้น้อง หลายครอบครัวแตกกระสานซ่านเซน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ มีโครงการในพระองค์โดยให้ทหารนำเด็กที่พบกับการสูญเสียจากเหตุภัยพิบัติในครั้งนั้นเข้ามาฝึก เรียน การทำเบญจรงค์ โดยฝึกสอนทั้งสิ้นสามรุ่น เด็กๆแต่ละคนกระจายกันฝึกกับชาวบ้านในหมู่บ้าน ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคน สอนทั้งสิ้นสามเดือน โครงการของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ และการสั่งทำเบญจรงค์จากที่นี่ นับเป็นโครงการที่มิใช่ชุบชีวิตเพียงแค่เด็กๆที่ประสบกับภัยพิบัติ แต่ทรงชุบชีวิตให้กับชุมชนแห่งนี้ ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีมรสุมทางเศรษฐกิจกี่ครา ฟองสบู่จะแตกในปี 2540 แต่หมู่บ้านแห่งนี้กลับไม่ค่อยกระทบเพราะความต้องการเบญจรงค์มีมาก บุคลากรที่มีฝีมือกลับมีน้อย สินค้าไม่พอขาย งานฝีมือด้านเบญจรงค์ของหมู่บ้านแห่งนี้เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้น โครงการอันเกี่ยวเนื่องกับงานด้านเซรามิกได้รับการส่งเสริมเพิ่มเติมมากขึ้น ทำให้หมู่บ้านเริ่มมีรายได้เข้ามามากขึ้น เมื่อมีรายได้มากขึ้นเพียงพอแก่การเลี้ยงชีพจึงมีผู้สนใจเข้ามาทำงานด้านนี้มากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้งานเบญจรงค์ยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าใดนัก อีกทั้งสื่อมวลชนแขนงต่างๆได้เข้ามาเผยแพร่ข่าวสารออกสู่สาธารณชน โดยรายการที่นำเสนอรายแรกคือ รายการกระจกหกด้านหนังสือพิมพ์ฉบับแรกคือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สู่หมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่น ปี 2544 หมู่บ้านดอนไก่ดี เริ่มเป็นที่รู้จัก ทางภาครัฐ คณะกรรมการพัฒนาชุมชนได้เข้ามาทำการสำรวจ พบว่าบ้านแต่ละหลังทั้งห้าหลังคาเรือน อันได้แก่ บ้านของ อุไร แตงเอี่ยม(เจ้าของร้านอุไร เบญจรงค์), รัชนี ทองเพ็ญ (เจ้าของร้านแดงเบญจรงค์), ประภาศรี พงษ์เมธา (เจ้าของร้านหนูเล็กเบญจรงค์) ,นวลจันทร์ มารุ่งเรือง (เจ้าของร้านยืนยงเบญจรงค์),จำเนียร ภูมิเสน (เจ้าของร้านสังวาลเซรามิก) แต่ละหลังเชื่อมต่อเนื่องกันและกัน ลักษณะเป็นกลุ่มก้อน เข้าข่ายหมู่บ้าน จึงให้ผ่านเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่น ประจำปี 2544 โดยมูลนิธิหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ถือเป็นรางวัลแรกของหมู่บ้าน หลังจากนั้นจึงได้รับรางวัลเรื่อยมา อาทิ รางวัลผลิตภัณฑ์ดีเด่น ประจำปี 2545 ,รางวัลเบญจรงค์น้ำทองคำล้านนานจากสมาคมชาวเหนือ 3 รางวัล , รางวัลผลิตภัณฑ์ชุมชนจากภูมิปัญญาไทย , รางวัลชนะเลิศจากสภาวัฒนธรรม อำเภอกระทุ่มแบน 3 รางวัล , รางวัลชนะเลิศ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จังหวัดสมุทรสาคร ,รางวัล OTOP 5 ดาว , รางวัลชุมชนดีเด่น โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , รางวัลหมู่บ้าน OVC ( OTOP Village Champion ) ต่อมาเจ้าหน้าที่จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นว่า หมู่บ้านแห่งนี้มีสถานที่ที่ร่มรื่น มีภูมิปัญญาท่องเที่ยว ที่เหมาะสำหรับการเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งทัศนศึกษา สำหรับนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ให้ได้รู้จักและสัมผัสกับทุกกระบวนขึ้นตอนของการทำเบญจรงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรักและหวงแหนต่อศิลปะของไทยสืบต่อไป น่าจะมีการจัดทำเป็นโฮมสเตย์จึงได้นำประธานกลุ่มฯและสมาชิกฯร่วมเดินทางไปดูการทำโฮมสเตย์ในท้องที่อื่นๆ เพื่อให้นำกลับมาพัฒนา ที่สุดของชีวิต กว่าค่อนชีวิตของผู้หญิงที่ชื่ออุไร แตงเอี่ยม เคยผ่านความยากลำบากจากการเป็นคนตกงาน หลายครั้งที่ต้องทุกข์ใจจากความเหนื่อยยาก มีเพียงชีวิตและจิตวิญญาณที่ต้องการสานงานศิลป์อันเป็นที่รักจนเกิดเป็นหมู่บ้านเบญจรงค์และอุไรโฮมสเตย์ที่ยอมรับและเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวไทยและชาวต่างชาติซึ่งเดินทางเข้ามาดูงานอย่างไม่ขาดสาย แล้ววันที่ชาวชุมชนแห่งนี้ กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ คือวันที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนินนำนักเรียนนายร้อยจปร.เข้ามาทัศนศึกษาดูงานเบญจรงค์ที่หมู่บ้านแห่งนี้ เมื่อปี 2552 “เมื่อทราบว่าพระองค์ฯจะเสด็จมา มีการเตรียมการมากมาย มีผู้หลักผู้ใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐ มีเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังเข้ามา ส่วนตัวเราปลื้มจนทำอะไรไม่ถูก เหนื่อยมาก และกลัวว่าจะทำอะไรไม่ถูก สองวันก่อนทรงเสด็จ ขึ้นไป ที่โชว์รูมทรงไทย มีพระรูปสมเด็จย่าฯ มีพระรูปเสด็จพ่อร. 5 เจ้าหน้าที่บอกว่าให้เตรียมข้อมูลและให้กราบทูลท่าน เราก็กลัวว่าจะตะกุกตะกัก ก็ขึ้นไปกราบเสด็จพ่อ ร . 5 บอกท่านว่า สมเด็จพระเทพฯจะเสด็จมาที่นี่ บอกไปก็น้ำตาไหลไป เมื่อถึงวันพระองค์เสด็จ หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง ตอนนั้นตัวลอยๆ ก็เดินอธิบาย เดินทูลให้ท่านทราบ สมเด็จพระเทพฯท่านเสด็จ ขึ้นบนบ้าน เสด็จที่โฮมสเตย์และเยี่ยมชมบ้านถึงสามหลังในหมู่บ้าน ประชาชนที่รู้ว่าเสด็จฯต่างมาเฝ้ากันมากมาย ท่านทรงเสด็จนานนับชั่วโมง จนพระองค์จะเสด็จฯกลับ จะขึ้นรถเท่านั้นแหล่ะ เราก้มลงกราบพระบาท แล้วก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ร้องไห้โฮเลย คณะกลุ่มแม่บ้าน ร้องไห้กัน ทุกคนตื้นตันใจ ที่สุดของชีวิตแล้ว ทางกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์จึงตั้งจิตเอาไว้ว่าชีวิตที่เหลือจะอุทิศตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ใครเข้ามาหาความรู้ ทุกสถาบัน หรือประชาชนทั่วไป เราจะไม่หยุดที่จะให้ความรู้ แม้จะทำมาตลอดก่อนหน้านี้ แต่หลังจากนี้ก็จะทำต่อไปให้ดีขึ้น ทำด้วยหัวใจตลอดไป นับจากวินาทีที่พระองค์เสด็จมาจนถึงวันนี้เมื่อไหร่ที่นึกถึงน้ำตามันไหลออกมาทุกครั้ง เป็นวันที่ปลื้มที่สุดของชีวิตจากคนตกงานยากลำบากคนหนึ่งกลับมาทำงานในหมู่บ้าน วันหนึ่งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเสด็จมา ไม่เคยคิดมาก่อนเลยภูมิใจที่สุดแล้วในชีวิต ” นางอุไร แตงเอี่ยม ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเบญจรงค์ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ปัจจุบัน ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ให้เป็น 1 ใน 7 ช่างศิลป์แห่งแผ่นดินสยาม ความแตกต่างของเบญจรงค์ดอนไก่ดี กับเบญจรงค์ที่อื่น ปี 2549 เมื่อโลกอินเตอร์เน็ตเข้ามาสู่สังคมไทย ได้ทำให้กิจการเล็กๆ ของหมู่บ้านเบญจรงค์ขยายตัวเพิ่มขึ้น ถือเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้คนรู้จักและสามารถดูสินค้าได้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในแต่ละปี มีผู้เข้าเยี่ยมชมหลายแสนคน ทำให้เกิดการออเดอร์สินค้าและในบางคนบางหมู่คณะ ได้เลือกที่จะเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมศิลปการเขียนลายเบญจรงค์ ณ ที่แห่งนี้ นางอุไร ผู้ให้กำเนิดหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ด้วยความละเอียดของงานแต่ละชิ้น ต่างชาติแทบไม่เชื่อว่า จะมาจากการเขียนลายของมนุษย์ ในแต่ละใบแต่ละชิ้นงาน เขียนลายสดๆ ไม่มีการใช้ก๊อปปี้ดังเช่นเบญจรงค์ที่อื่นทำออกมาจำหน่ายที่เน้นปริมาณ แต่ที่นี่เน้นงานแฮนด์เมดอย่างแท้จริง คนไทยมีหัวใจของศิลปะมีวัฒนธรรมที่ดีมีความอ่อนหวานอยู่แล้ว เรื่องเอากระบวนการทำเบญจรงค์เข้ามาจึงทำให้สะท้อนถึงจิตใจผู้เขียนลาย ผู้เขียนจะตั้งใจให้สวยงามราวกับการพิมพ์ในแต่ละชิ้นที่รังสรรค์ออกมา งานอุไรเบญจรงค์ จะมีความละเอียดอย่างมาก รวมถึงการนำน้ำทอง 12 เปอร์เซ็นต์เต็มซึ่งราคาทองแพงมากทำให้บางเจ้ามีการผสมเนื้อทอง นั่นจะทำให้เนื้อสีทองจะดำเมื่อเวลาผ่านไป แต่สำหรับที่นี่ แม้สินค้าจะมีราคาสูงกว่าที่อื่น แต่เน้นเรื่องของสินค้าคุณภาพและทำให้ผู้ที่ชื่นชอบศิลปะเบญจรงค์ได้ประทับใจงานจนชั่วลูกชั่วหลาน” และในปัจจุบันนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติสนใจเข้ามาที่หมู่บ้านเบญจรงค์แห่งนี้เนื่องจาก มีอาคารบ้านโฮมเสตย์ที่แยกออกเป็นสัดส่วน โดยสร้างเป็นทรงไทยสองชั้น ประกอบด้วยห้องนอน 6 ห้อง มีทั้งแบบสามารถห้องนอนคู่มีห้องน้ำในตัว แอร์ ทีวี เครื่องทำน้ำอุ่น และห้องนอนรวมทุกห้องติดแอร์ รวมทั้งจัดให้มีกิจกรรมระหว่างการเข้าพักโฮมสเตย์ ทางหมู่บ้านจัดให้มีกิจกรรมการเขียนลายด้วยตัวเอง โดยให้เลือกภาชนะที่ต้องการอาจจะเป็นแก้วหรือจานในราคา 200-250 บาท เมื่อเขียนลายเสร็จแล้ว สามารถนำกลับติดไม้ติดมือกลับบ้านได้ หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดีถือเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้านของชุมชน ซึ่งที่นี่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่อยากเข้ามาเรียนรู้ และทดลองสร้างสรรค์งานศิลปะลายเส้นและสีสันของเบญจรงค์ตลอดเวลา หากสนใจสามารถติดต่อได้ที่ Urai Benjarong 32 Moo 1, Baan Klang, Don Kai dee Sub-District, Krathumban District, Samut Sakhon 74110 Thailand Contact : Urai Taeng-Eim Tel. +6681 861 4626, +6634 473 408 E-mail : urai_benjarong@hotmail.com กลุ่มหมุ่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี (อุไรเบญจรงค์) 32 หมู่ 1 บ้านกลาง ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร 74110 ติดต่อ : คุณอุไร แตงเอี่ยม โทร : 034-473-408 , 081-861-4626,085 446 2444 และคุณณิฐ์ภาวรรณย์ แตงเอี่ยม โทร 0615276999 E-mail : urai_benjarong@hotmail.com ตัวอย่าง เครื่องเบญจรงค์ฝีมือ 1 ใน 7 ครูช่างศิลป์ของแผ่นดิน ร้าน อุไร เบญจรงค์