การประชุม “Industrie 4.0 in Thailand 4.0 German-Thai Partnership for the Industry of Tomorrow”
วันที่ 15 พฤษภาคม 2560 กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูตเยอรมัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าเยอรมัน-ไทย จัดการประชุม “Industrie 4.0 in Thailand 4.0: German-Thai Partnership for the Industry of Tomorrow” ดึงผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญและนักปฏิบัติจากทั้งภาครัฐและเอกชนไทยและเยอรมันกว่า 300 คน คณะของเยอรมันนำโดย ดร. วูฟล์กังก์ เชเรเมต อธิบดีกรมนโยบายอุตสาหกรรม กระทรวงกิจการเศรษฐกิจและพลังงาน และศาสตราจารย์ ดร. เพเทอร์ โพสต์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยประยุกต์ บริษัทเฟสโต และสมาชิกสมัชชาวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของเยอรมนี ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ในเยอรมนี ร่วมหารือวางแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามโรดแมปไทยแลนด์ 4.0 ตั้งเป้าพัฒนาแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย และความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมันในสาขาสำคัญ เช่น การยกระดับ SME และพัฒนาทักษะแรงงานสู่อุตสาหกรรม 4.0 พัฒนานโยบายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของกระทรวงฯ ในขณะนี้ คือการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยกระทรวงได้วางยุทธศาสตร์ให้สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เน้นการดำเนินงานในสี่ส่วนสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย (core technologies for target industries) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) การส่งเสริม SME เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และการพัฒนาทักษะและยกระดับแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 การประชุมในวันนี้ได้กระตุ้นให้เกิดการหารือเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนากลยุทธ์และมาตรการในการปรับตัวของอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 จึงเสนอให้มีการจัดตั้งความร่วมมือไทย-เยอรมัน 4.0 (Thai-German Partnership 4.0) โดยต่อยอดกลไกประชารัฐ (PPP) ซึ่งได้พัฒนาโรดแมปไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ผนวกกับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมของเยอรมัน ที่จะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมไทยที่จะใช้โอกาสในการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยไทยสามารถเชื่อมโยงความร่วมมือไปสู่อาเซียนได้ต่อไป นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเด็นการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 นั้น มีความซับซ้อน ครอบคลุมประเด็นที่หลากหลายทั้งด้านเทคโนโลยี มาตรฐาน การพัฒนากำลังแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน และกฎหมายกฎระเบียบ จำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันการพัฒนาแพลตฟอร์มความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเป็นกลไกกลางในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้งด้านการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุน SMEs ให้ปรับตัวเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยล่าสุด กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำลังจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมในอนาคต (Industry Transformation Center) เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่ภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม หรือ startups ในการปรับตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งได้นำแนวคิดหลักการพัฒนา Industry 4.0 ที่มีประสิทธิภาพของเยอรมัน อาทิ Technische Universitaet Darmstadt (TU Darmstadt) และ Karlsruhe Institute of Technology (KIT) รวมถึง Fraunhofer Institute for Industrial Engineering IAO มาประยุกต์ใช้ด้วย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเสริมว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ริเริ่มโครงการที่สนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เช่น เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) และอยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมซึ่งจะเป็นโรดแมปของการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (new S curves) ในส่วนของอุตสาหกรรม 4.0 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเห็นว่าเป็นโอกาสของภาคการผลิตในการเพิ่มประสิทธิภาพ และปรับวิถีการผลิตจาก mass production สู่การผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงที่มีรูปแบบเฉพาะตัว (mass customization) ซึ่งทางกระทรวงฯ มีความพร้อมทางด้านบุคลากร ห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง และเทคโนโลยีที่พร้อมร่วมมือกับผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรม 4.0 นอกจากนี้ยังมีกลไกที่สามารถนำมาต่อยอดสนับสนุนแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 ได้ เช่น โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iTAP) โครงการ Talent Mobility สนับสนุนนักวิจัยเข้าไปช่วยภาคอุตสาหกรรมในการทำวิจัยและนวัตกรรม และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพและการมาตรฐาน เป็นต้น นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าอุตสาหกรรม 4.0 ถือเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ผลักดันให้เกิดการใช้แรงงานที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง และใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่ามากขึ้น สำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ของ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ทำการสำรวจสถานะอุตสาหกรรมไทย และพบว่าประมาณ 70% ยังอยู่ในระดับอุตสาหกรรม 2.0-2.5 สภาอุตสาหกรรมฯ จึงกำหนดเป้าหมายเบื้องต้นในการสร้างความตระหนัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SME มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร 3 กลุ่ม ได้แก่ คือ กลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรกลที่จะช่วยยกระดับจากอุตสาหกรรม 2.0-2.5 ไปเป็นอุตสาหกรรม 3.0 กลุ่ม System Integrator ที่จะนำกลไกต่างๆ มาเชื่อมโยงให้เป็นระบบ และกลุ่มผู้ดูแลรักษาระบบให้มีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นจึงจะพัฒนาต่อเนื่องไปสู่ระดับอุตสาหกรรม 4.0 และได้ย้ำว่าอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ใช่สิ่งเดียวกับไทยแลนด์ 4.0 แต่เป็นการผลิตที่ยกระดับด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะทำให้เครื่องจักรต่างๆ สามารถเชื่อมโยงการทำงานเป็นระบบ มีการสื่อสารระหว่างกัน รวมถึงมีการผลิตด้วยความเร็วสูงและมีความยืดหยุ่น เกิดนวัตกรรมของบริการและสินค้าใหม่ๆ สิ่งที่ตามมาคือการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ที่ประชุมได้หารือและมีข้อสรุปร่วมกันว่า ในการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0 มีความจำเป็นจะต้องบูรณาการนโยบายอุตสาหกรรม นโยบายพัฒนาวิสาหกิจ นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และนโยบายการศึกษา รวมถึงการพัฒนาและปรับเปลี่ยนทักษะของแรงงาน ให้สอดคล้องและส่งเสริมกัน และเสนอว่าแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 ควรเป็นกลไกกลางในการบูรณาการนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ และเชื่อมโยงการขับเคลื่อนการดำเนินงานกับภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือกับต่างประเทศ