การรถไฟฯ ชวนคนไทยเที่ยวงาน “Hua Lamphong in Your Eyes” เติมเต็มภาพความสุข แบ่งปันมุมมองพร้อมเรียนรู้ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า
การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดงาน “Hua Lamphong in Your Eyes” ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ถึง 16 มกราคม 2565 เชิญชวนประชาชนคนไทยทุกคนร่วมเติมเต็มภาพความสุข และแบ่งปันมุมมองไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของชาติ ผ่านไฮไลท์ 10 จุดสำคัญของการรถไฟและสถานีหัวลำโพง ที่มีอายุยาวนานถึง 105 ปี ทั้งเชิญชวน ผู้ที่สนใจส่งภาพถ่ายเข้าประกวด ในหัวข้อ “Hua Lamphong (หัวลำโพง) Through the Lens” ชิงรางวัลรวมกว่าหนึ่งแสนบาท
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนเข้าร่วมงาน “Hua Lamphong in Your Eyes” ซึ่งจัดขึ้น ณ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ถึง 16 มกราคม 2565 เพื่อร่วมเติมเต็มภาพความสุขและแบ่งปันมุมมอง ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สำคัญของสถานีหัวลำโพง ที่มีอายุยาวนานกว่า 105 ปี ผ่าน 10 จุดไฮไลท์สำคัญที่พลาดไม่ได้เลย ได้แก่ อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง เป็นจุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีตรึงหมุดรางทอง รางเงิน ติดกับไม้หมอนมะริดคาดเงิน และเปิดการเดินรถไฟหลวงในราชอาณาจักรสายแรก เส้นทางสถานีกรุงเทพ-อยุธยา
สะพานลำเลียงจดหมาย จุดเชื่อมต่ออาคารไปรษณีย์ตั้งอยู่ปลายชานชาลาที่ 4 ของสถานีกรุงเทพ ลานน้ำพุหัวช้าง ในอดีตเคยเป็นหลุมหลบภัยทางอากาศ ป้ายด้านหน้าสถานีหัวลำโพง ตรงด้านหน้าของสถานีจะมีตัวอักษรปูนปั้นคำว่าสถานีกรุงเทพติดอยู่ที่ด้านบนโถงระเบียงทางเข้าซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทาง สถาปัตยกรรมภายนอกสถานีกรุงเทพ
ซึ่งตัวอาคารเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซองส์ ระเบียงด้านหน้าสถานีหัวลำโพง สวยงามด้วยกระจกสีที่ช่องระบายอากาศทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่เท่า ๆ กับตัวอาคารสถานี เน้นลักษณะภายนอกของมนุษย์และธรรมชาติ ดื่มด่ำไปกับบรรยากาศร่วมสมัยของ โถงกลางสถานี ในสไตล์ตะวันตก ที่งดงามด้วยการตกแต่งภายในสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานศิลปะแบบคลาสสิก (Classicism) ด้วยการใช้เสาคู่ลอยตัวระเบียงไอโอนิก (Ionic) การตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น และศิลปะแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau) เยี่ยมชม โรงแรมราชธานี อดีตโรงแรมหรูที่เคยอยู่คู่สถานีหัวลำโพงมานาน เก้าอี้วงรี ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำสถานีรถไฟ เป็นเก้าอี้รูปทรงคล้ายหมวกปีกถูกทับจนแบนยาว ส่วนปีกหมวกเป็นที่นั่ง ตัวหมวกเป็นพนักพิง และปิดท้ายกันที่ รถจักรไอน้ำแปซิฟิก รุ่นเลขที่ 824, 850 ที่ถูกใช้การหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รถจักรไอน้ำทั้ง 2 คันนี้นำมาใช้งานในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2492 โดยใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงต่อมาได้ดัดแปลงให้ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงแทนในปี พ.ศ.2514 ปัจจุบันการรถไฟฯ ใช้ทำเป็นขบวนรถนำเที่ยวในโอกาสพิเศษที่สำคัญๆ ปีละ 6 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังจัดขบวนรถพิเศษ Prestige มาให้เยี่ยมชมกันอย่างใกล้ชิด และเชิญชวนทุกท่านร่วมสนุกไปกับการประทับตราตามจุดเช็คอินกับพนักงานการรถไฟฯ เมื่อครบ 10 จุดสำคัญ รับแสตมป์ชุดพิเศษเป็นที่ระลึกจากการรถไฟฯ ชมการแสดงจากวงดุริยางค์ซิมโฟนีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ร่วมบรรเลงเพลงพร้อมวาทยกรที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก “คุณทฤษฎี ณ พัทลุง” และในทุกช่วงบ่ายวันเสาร์และอาทิตย์จะมีดนตรีมาแสดงภายในโถงกลางสถานีหัวลำโพง อาทิ วงประสานเสียง วงฮาร์พ และเครื่องสาย สลับสับเปลี่ยนเพื่อสร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชนที่มาร่วมงาน
ในโอกาสนี้ การรถไฟฯ ยังได้ร่วมกับ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรมการประกวดถ่ายภาพภายใต้โครงการ “Hua Lamphong In Your Eyes” ในหัวข้อ “Hua Lamphong (หัวลำโพง) Through the Lens” ชิงรางวัลรวมกว่าหนึ่งแสนบาท พร้อมโล่รางวัลเกียรติยศจากผู้ว่าการรถไฟฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการถ่ายทอดมุมมองและความคิดที่มีต่อสถานีหัวลำโพง เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านภาพถ่าย
โดยสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 19 –26 ธันวาคม 2564 (ปิดรับผลงานเวลา 17.00 น.) และจะประกาศผลการตัดสินในวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ผ่านทาง www.rpst.or.th รวมถึงจัดแสดงผลงานที่ได้รับการคัดเลือกระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2564 – 16 มกราคม 2565 ณ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ 1690
Facebook ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย (red arrow right) https://www.facebook.com/129946050353608/posts/5315232115158283/?d=n
INSTAGRAM SRT OFFICIAL (red arrow right)https://www.instagram.com/p/CXyDtaFhA2T/?utm_medium=copy_link
Twitter SRT OFFICIAL @PR_SRT (red arrow right) https://twitter.com/pr_srt/status/1473605107707117569?s=21