ก.อุตฯ เชิญชวนผู้ประกอบการ ร่วมขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
ด้วยความได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และความพร้อมด้านการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเลสุดชายแดนทั่วทุกภูมิภาค จึงทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนที่มีศักยภาพอันโดดเด่น สามารถเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดชายแดนไทย ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจ เข้ามาร่วมลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้ จังหวัดสงขลาและนราธิวาส เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ที่ตำบลสะเดา ตำบลสำนักขาม ตำบลสำนักแต้ว ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ สามารถเชื่อมโยงการขนส่งทางเรือผ่านท่าเรือสงขลากับท่าเรือปีนัง และท่าเรือกลางของมาเลเซีย และการขนส่งทางรถไฟระหว่างไทยมาเลเซีย ผ่านด่านปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นด่านทางบกที่มีมูลค่าการค้าสูงสุด อันดับ 2 ของไทย ด้านการขนส่งทางถนนเชื่อมโยงผ่านด่านชายแดนสะเดา ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้โครงการความร่วมมือเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) นอกจากศักยภาพด้านการเชื่อมโยงการขนส่งแล้ว จังหวัดสงขลายังเป็นแหล่งผลิตสินค้าเช่น ยางพารา อาหารทะเล อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ผ่านเครือข่ายการผลิตสินค้าเชื่อมโยงระหว่างไทยและมาเลเซีย เพื่อกระจายสู่ตลาดนอกภูมิภาคผ่านประเทศสิงคโปร์ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่ที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง ตำบลสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ และตำบลโละจูด อำเภอแว้ง โดยจังหวัดนราธิวาสมีจุดผ่านแดนเชื่อมโยงกับมาเลเซีย 3 แห่ง ได้แก่ ด่านสุไหงโก-ลก ด่านตากใบ และด่านบูเก๊ะตา และเป็นปลายทางสุดท้ายของเส้นทางรถไฟสายใต้กรุงเทพ-สุไหงโก-ลก ซึ่งมีทางรถไฟเชื่อมต่อกับทางรถไฟในรัฐกลันตันในมาเลเซีย โดยจังหวัดนราธิวาสมีวัตถุดิบที่สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมีจุดเด่นด้านวัฒนธรรมที่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล และเป็นประตูเส้นทาง (Gateway) สู่อาเซียนทางภาคใต้ของประเทศไทย ผ่านทิศตะวันออกของมาเลเซีย ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังสิงคโปร์ได้ มีท่าเรือพาณิชย์สำหรับขนส่งสินค้าต่าง ๆ เช่น สินค้าประมง สินค้าจำพวกไม้ สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอื่น ๆ นอกจากศักยภาพด้านแหล่งวัตถุดิบของพื้นที่และการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพแล้ว เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้ จังหวัดสงขลาและจังหวัดนราธิวาสยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งด้านสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุน และการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (One Stop Services: OSS) เพื่อเป็นศูนย์ให้บริการด้านข้อมูลการค้าการลงทุน รวมทั้งประสานการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยอำนวยความสะดวกด้านพิธีการและข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ แก่นักลงทุนและผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เร่งพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง อาทิ ด่านศุลกากรและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อรองรับการลงทุน โอกาสมาแล้ว มาร่วมลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย Thailand Special Economic Zone ภาคใต้ของประเทศไทย จังหวัดสงขลา และจังหวัดนราธิวาส กัน