Update Newsกระทรวงแรงงานสังคมสังคม/CSR

ก.แรงงาน ลั่นระฆังแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29 คัดสุดยอดเยาวชนตัวแทนเยาวชนทีมชาติไทย

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดสุดยิ่งใหญ่แข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29 คัดเยาวชนทั่วประเทศสู่ทีมชาติ ร่วมแข่งขันระดับนานาชาติ

 

 

 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29 โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ อาคารอเนกประสงค์ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ โดยกล่าวว่า การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติเป็นภารกิจของกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นเวทีสำหรับเยาวชนในการแสดงความสามารถด้านทักษะฝีมือที่ได้ฝึกฝนอบรมในสาขาอาชีพต่างๆ และเป็นเวทีคัดเลือกเยาวชนเป็นทีมชาติไทยในการเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 13 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 18-28 กรกฎาคม 2566 และการแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย ครั้งที่ 2 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม 2566 และการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 10-15 กันยายน 2567



 

 

 
 

 

สำหรับการแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2566 จำนวน 26 สาขา แบ่งเป็นแข่งขันที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ จำนวน 18 สาขา เช่น สาขาเมคคาทรอนิกส์ สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม สาขาระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม สาขาการจัดดอกไม้ สาขาแฟชั่นเทคโนโลยี เป็นต้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดแข่งขันสาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา จัดแข่งขันสาขาการประกอบอาหาร วิทยาลัยแรงงาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงาน 13 กรุงเทพมหานคร จัดแข่งขันสาขาการบริการอาหารและเครื่องดื่ม และมหาวิทยาศรีปทุมจัดแข่งขันสาขาการสร้างโมเดลในเกมสามมิติ โดยมีเยาวนอายุระหว่าง 15-21 ปี เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 390 คนจากทั่วประเทศ เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนทีมชาติ

นายสุรชัย กล่าวต่อไปว่า ซึ่งแบบข้อสอบที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ได้ประยุกต์จากการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติครั้งล่าสุด ได้รับการพัฒนาจากคณะผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา ยึดหลักสำคัญเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (WorldSkills International) นอกจากนี้นำวิธีการตรวจประเมินผลการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (Competition Information System : CIS) มาใช้ในการแข่งขัน เพื่อยกระดับมาตรฐานการตัดสินของคณะกรรมการให้มีความยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามหลักสากลมากขึ้น จึงเป็นการันตีว่าเยาวชนะที่ชนะการแข่งขันมีศักยภาพและทักษะที่พร้อมแข่งขันในเวทีระดับโลกต่อไป

“การแข่งขันมิได้เป็นเพียงเวทีคัดเลือกเยาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวช่วยส่งเสริมสนับสนุนกระตุ้นให้เยาวชนมีใจรักในงานอาชีพ และสนใจที่จะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสร้างความก้าวหน้าในการศึกษาและหน้าที่การงาน และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนอื่นๆ ในการพัฒนาขีดความสามารถของตนเองให้ทัดเทียมหรือก้าวสู่ทีมชาติเช่นเดียวกัน” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าว