ก.แรงงาน สัมมนาหารือปลดล็อคอาชีพสงวน ปรับโทษ ก่อนบังคับใช้ พ.ร.ก.ต่างด้าว 1 ม.ค.
ก.แรงงาน สัมมนารับฟังความคิดเห็น พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แบ่ง 3 กลุ่มพิจารณาปรับบทลงโทษ อาชีพสงวน และกระบวนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย ‘ปลัดแรงงาน’ เผย งานภูมิปัญญา ศิลปหัตถกรรมอนุรักษ์ไว้สำหรับคนไทย พร้อมพิจารณาผ่อนคลายให้ต่างด้าวทำงานก่อสร้างได้ให้สอดคล้องกับยุคสมัย หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น “พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560” ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงานว่า กระทรวงแรงงานได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น “พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560”ซึ่งจากการที่ได้บังคับใช้กฎหมาย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 พบว่ามีข้อขัดข้องในการปฏิบัติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งเพื่อให้เวลา 180 วันในการปรับปรุงชะลอบทลงโทษ จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2561 ในระหว่างนี้ให้กระทรวงแรงงานพิจารณารับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องเหมาะสม ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับฟังความคิดเห็นไปพร้อมกัน ซึ่ง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า การสัมมนาในวันนี้หลังจากพิธีเปิดแล้วจะมีการบรรยายสาระสำคัญของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมการจัดหางาน จากนั้นจะแบ่งกลุ่มรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การนายจ้าง ผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวน 250 คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเรื่องบทลงโทษ กลุ่มที่สองเรื่องอาชีพสงวน 39 อาชีพ เพื่อพิจารณาว่าอาชีพใดควรห้ามหรือยกเลิกเพื่อปรับปรุงให้เหมาะสม กลุ่มที่สามเรื่องการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อพิจารณาข้อขัดข้องในกระบวนการนำเข้าให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น จากนั้นจะสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นในช่วงบ่าย ขณะเดียวหากมีประเด็นเพิ่มเติมผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถส่งแอกสารให้กระทรวงแรงงานพิจารณาต่อไปได้ “การพิจารณาอาชีพสงวนสำหรับคนไทยนั้น เบื้องต้นในหลักการเห็นว่า อาชีพที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทย งานที่เป็นเอกลักษณ์ไทย งานที่ต้องอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมของคนไทย รวมถึงงานที่มีองค์กรสภาวิชาชีพรับรองเป็นการเฉพาะ ยังคงสงวนไว้สำหรับคนไทย ส่วนอาชีพอื่นๆ เช่น งานก่อสร้าง ก็จะพิจารณาในรายละเอียดเพื่อผ่อนคลายให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ ขณะเดียวกันเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในแต่ละยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย”ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว