Update Newsประชาสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรม

ขยายเวลาจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “อารยธรรมวิวัฒน์  ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร” ถึง ๓๐ ก.ย.นี้

กรมศิลปากร ขยายเวลาจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔

กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี - ศรีรามเทพนคร” นำเสนอความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยคัดเลือกโบราณวัตถุที่มีความสำคัญ ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นที่มาของวิวัฒนาการทางอารยธรรม เน้นอิทธิพลของศิลปะลพบุรี (เขมรในประเทศไทย) ที่ส่งผลต่อบ้านเมืองบนแผ่นดินไทย และยังคงมีอิทธิพลในสมัยต่อมา โดยเฉพาะศิลปะอยุธยา ตกทอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เนื้อหานิทรรศการแบ่งเป็น ๔ หัวเรื่อง ได้แก่ ๑. รากฐานและพัฒนาการก่อนอิทธิพลศิลปะลพบุรี ๒. ลพบุรี - ศรีรามเทพนคร ๓. มรดกจากลพบุรี คลี่คลายสู่ปัจจุบัน และ ๔. คืนชีวิตประติมากรรม

ความน่าสนใจของนิทรรศการครั้งนี้ คือ การคืนชีวิตให้กับประติมากรรม โดยนำชิ้นส่วนประติมากรรม พระโพธิสัตว์สำริดจากบ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นประติมากรรมที่จัดอยู่ในกลุ่มประโคนชัย ศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลเขมรพบมากบริเวณที่ราบสูงโคราช มาประกอบและติดตั้งบนหุ่นจำลองขนาดเท่าจริงตามรูปแบบการสันนิษฐานและการบูรณาการทางด้านวิชาการระหว่างนักวิชาการหลายแขนง ทั้งภัณฑารักษ์ นักวิทยาศาสตร์



นายช่างศิลปกรรม และนักวิชาการช่างศิลป์ อันเป็นการจัดแสดงและนำเสนอความรู้เรื่องราวของโบราณวัตถุในอีกมิติหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่นำมาจัดแสดง เช่น ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปรางค์กู่สวนแตง จังหวัดบุรีรัมย์ จารึกลานทองวัดส่องคบ ๑ ซึ่งแสดงถึงธรรมเนียมการจารึกบนแผ่นโลหะมีค่า เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาสืบมาตั้งแต่สมัยทวารวดี สุโขทัย อยุธยา จวบจนสมัยรัตนโกสินทร์ ประติมากรรมหน้ายักษ์หรืออสูร ภาชนะดินเผารูปสัตว์ สิงห์สำริด เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้ศึกษาหาความรู้ได้อย่างกว้างขวางและครอบคลุมยิ่งขึ้น 



 

  

 

ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “อารยธรรมวิวัฒน์  ลพบุรี - ศรีรามเทพนคร”ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ (ปิดวันจันทร์ - อังคาร) เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สอบถามเพิ่มเติม โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒, ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๗๐