Update Newsกระทรวงสาธารณสุขสังคมสังคม/CSR

คกก. ออกมาตรการคุมเข้มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงปีใหม่ ย้ำ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ”

คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เห็นชอบมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 เน้นย้ำรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” มีมติเห็นชอบมาตรการรองรับการขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 เพื่อลดผลกระทบทางสังคมในกรณีขยายเวลาเปิดบริการในพื้นที่เป้าหมาย


เมื่อวันที่ (8 ธันวาคม 2566) ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยนายภูมิธรรม ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดที่สามารถเชิญ ชวน เชียร์ ประชาชนภายในพื้นที่และผู้มีปัญหาจากการดื่มสุรา เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาสูงที่สุด รวมทั้งสิ้น 10 รางวัล




 

 

 

 



นายภูมิธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 กำหนดการรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ตามที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสนอ เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 โดยบูรณาการ 5 มาตรการหลักควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 

ดังนี้ 1.มาตรการขับเคลื่อนแบบบูรณาการ 2.มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ 3.มาตรการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงระดับชุมชน 4.มาตรการการบังคับใช้กฎหมาย และ 5.มาตรการคัดกรอง บำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้มีปัญหาการดื่มสุรา โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ช่วง คือ 1.ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเทศกาลปีใหม่ รณรงค์จัดกิจกรรมปีใหม่ปลอดเหล้า ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างกระแสให้ร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามส่งเสริมการขาย ลดแลกแจกแถม ขายในเวลาที่กำหนด 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. 

2.ช่วงเทศกาลปีใหม่ ใช้มาตรการชุมชน ส่งเสริมการจัดทำมาตรการชุมชน เพิ่มความมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบ “ด่านครอบครัว” เพื่อเน้นย้ำให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานและคนในครอบครัวไม่ให้ดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ เพิ่มศักยภาพด่านชุมชนคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมา กรณีเกิดเหตุมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้เป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทางลมหายใจทุกราย หากไม่สามารถเป่าได้ให้ส่งโรงพยาบาลเพื่อเจาะเลือดตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ และบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดในผู้กระทำผิด 

และ 3.ช่วงหลังปีใหม่ เน้นคัดกรองส่งต่อผู้กระทำผิดฐานเมาแล้วขับที่ถูกศาลสั่งคุมประพฤติ ให้เข้ารับการบำบัดรักษา โดยจะแจ้งให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเตรียมพร้อมต่อไป


นายสันติ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการรองรับการขยายเวลาเปิดสถานบริการเพื่อลดผลกระทบทางสังคมในกรณีขยายเวลาเปิดบริการ โดยจัดทำคำแนะนำสำหรับสถานบริการที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอนุญาตให้ขยายเวลาเปิดสถานบริการ ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2546 ในพื้นที่เป้าหมายในการขยายเวลาเปิดสถานบริการ ได้แก่ สถานบริการที่ตั้งอยู่ในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม (ทั่วประเทศ) และสถานบริการที่ตั้งอยู่ในท้องที่กรุงเทพฯ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยสถานบริการต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยเข้มงวดในมาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลดังต่อไปนี้

 (1) บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์ (2) บุคคลที่มีอาการมึนเมาสุราจนครองสติไม่ได้ รวมถึงผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกราย ให้สถานบริการตรวจวัดแอลกอฮอล์ทางลมหายใจก่อนอนุญาตให้ขับขี่ออกจากสถานบริการและในกรณีที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะ ได้รับการวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดทางลมหายใจแล้วพบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 50 mg% ให้สถานบริการจัดหาที่พักคอย และอำนวยความสะดวกเพื่อรอให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดทางลมหายใจลดลง ต่ำกว่า 50 mg% จึงอนุญาตให้ขับขี่ออกจากสถานบริการ หรือในกรณีที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 50 mg% ไม่ยินยอมพักคอย ให้สถานบริการประสานให้เพื่อน/ญาติ ของผู้ใช้บริการขับขี่แทน หรือจัดบริการยานพาหนะเพื่อส่งลูกค้าเดินทางกลับโดยคิดค่าบริการจากผู้ใช้บริการ โดยมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลและประเมินผลกระทบจากการขยายเวลาเปิดสถานบริการ 


ด้าน นพ.พงศธร กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปีพบว่ามีอุบัติเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนจำนวนมาก ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565 - 4 มกราคม 2566 รวม 7 วัน เกิดอุบัติเหตุ 2,440 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 317 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,437 คน พบอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ยานพาหนะเป็นอันดับ 2 คิดเป็นร้อยละ 25.49 ส่วนข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรม สรุปสถิติคดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 (7 วันอันตราย) เป็นคดี “เมาแล้วขับ” สูงถึง 1.6 หมื่นคน