Update Newsสังคม

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมจัดรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูปสังคมไทย สู่ “สังคมคุณภาพ” พื้นที่ภาคใต้

ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องอรพินธ์ ชั้น 2 โรงแรมทวิน โลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ รองประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เป็นประธานรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูปสังคมไทยสู่ “สังคมคุณภาพ” จากประชาชนพื้นที่ภาคใต้ โดยมี คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม 3 คน ร่วมรับฟัง ประกอบด้วย นายแพทย์ อำพล จินดาวัฒนะ โฆษกคณะกรรมการฯ นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ ประธานอนุกรรมที่ทำหน้าที่จัดการรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูปประเทศด้านสังคม และนายไมตรี อินทุสุต คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม (อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว จากประชาชนพื้นที่ภาคใต้ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมและระดมความคิดเห็นในครั้งนี้กว่า 170 คน เป็นตัวแทนเครือข่ายจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ ภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายในภาคใต้ ถือเป็นการผลักดันการร่วมมือในรูปแบบกลไกประชารัฐอย่างหนึ่ง 


   

   

   

นายอโณทัย กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม มีแผนการปฏิรูป (Agenda base) ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การปรับปรุงการออม สวัสดิการสังคม และการลงทุนทางสังคม โดยการเพิ่มประสิทธิภาพกองทุนการออมแห่งชาติ สร้างระบบให้คนไทยมีบำเหน็จบำนาญที่พอเพียง ปรับปรุงระบบสวัสดิการด้านต่าง ๆ ผลักดันการดำเนินการด้านวิสาหกิจเพื่อสังคม ก่อตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนด้านสังคม ขอให้วัดช่วยเหลือกิจการทางสังคม และปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี 

2) การช่วยเหลือและเพิ่มขีดความสามารถกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคม อาทิ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส โดยการปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะเพื่อประโยชน์ของทุกกลุ่ม ปฏิรูปกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เสริมสร้างศักยภาพผู้สูงอายุ ปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค และปฏิรูปแนวทางการให้สัญชาติไทยแก่ผู้ไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร์ 

และ 3) การจัดการข้อมูลและองค์ความรู้ด้านสังคม โดยมอบหมายภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้เก็บข้อมูลและบริหารข้อมูลด้านสังคมโดยเน้นข้อมูลเป็นรายบุคคลและข้อมูลเชิงคุณภาพ จัดการข้อมูลภาครัฐเพื่อให้มีการเปิดเผยและเชื่อมโยงระบบข้อมูลที่ภาคประชาชนกลุ่มเป้าหมายหรือชุมชนต้องการทราบหรือต้องการรับบริการรวมอยู่ในระบบ Big Data ของรัฐบาล โดยเน้นข้อมูลด้านการจัดสรรทรัพยากร และการเข้าถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาภาครัฐเป็นเบื้องต้น และการจัดการองค์ความรู้ภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในการจัดการองค์ความรู้ โดย แผนการพัฒนาที่เป็นพื้นที่ (Area base) เป็นเรื่องระบบสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง 

โดยการกำหนดตำบลเป็นพื้นที่การพัฒนาอย่างบูรณาการ ส่งเสริมสิทธิและบทบาทชุมชน อำนาจการจัดการทรัพยากรและทุนชุมชน ปรับปรุงสวัสดิการชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ส่วนแผนการจัดกระบวนการเพื่อขับเคลื่อนสังคม (Social movement) เป็นเรื่องการมีส่วนร่วม การเรียนรู้ การรับรู้ และการส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม โดยสร้างเสริมพลังคุณธรรมและทุนทางสังคม พลังสร้างสรรค์ และพลังสร้างภูมิคุ้มกัน รวมทั้งแผนการจัดการองค์กร ทั้งนี้ เรื่องแรงงาน ศาสนา วัฒนธรรมการจัดการที่ดิน ได้เสนอให้มีคณะพิเศษในการดำเนินการ 
 

ด้าน นายไมตรี กล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสังคม จัดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง โดย ครั้งแรกจัดที่ส่วนกลาง ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ส่วนครั้งที่ สอง จัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ที่เพิ่งผ่านมา สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม จัดในพื้นที่ภาคใต้ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช แห่งนี้ ส่วนครั้งต่อไปเป็นครั้งที่สี่ กำหนดจัดในพื้นที่ภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 12 ธันวาคม 2560 
 

นายไมตรี กล่าวต่ออีกว่า ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในประเด็นปฏิรูปประเทศด้านสังคม ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) การออม สวัสดิการ และการลงทุนทางสังคม 2) กลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคม 3) การจัดการข้อมูลและองค์ความรู้ด้านสังคม 4) ระบบสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง 5) การมีส่วนร่วม การเรียนรู้ การรับรู้ และการส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม 

ซึ่งการประชุมสองครั้งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับประเด็นปฏิรูปด้านสังคมที่ได้นำเสนอ โดยมีขึ้นในครั้งแรกที่กรุงเทพฯ จะเน้นให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเรื่องสังคมสูงวัย การออมเพื่อความมั่นคงหลังเกษียณ การผลักดันกฎหมายที่ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่วนครั้งที่สองในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง การปฏิรูปการดำเนินงานของภาครัฐ ทั้งเรื่องงบประมาณ การปรับเปลี่ยนบทบาทภาครัฐ การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน/ภาคประชาสังคม ตลอดจนกลไกในการขับเคลื่อนประเด็นการปฏิรูปไปสู่การปฏิบัติ 
 

   

ส่วน นายสุรินทร์ ผู้รับทำหน้าที่จัดการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ กล่าวว่า การจัดการรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ดังกล่าว เป็นการจัดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมให้มีความครอบคลุม ครบถ้วน และสามารถบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ไปสู่ “สังคมคุณภาพ” ด้วยการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-economic Security) การสร้างโอกาสที่เป็นธรรมโดยไม่แบ่งแยก (Social Inclusion) การเสริมสร้างพลังทางสังคม (Social Empowerment) และการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม (Social Cohesion) ไปพร้อม ๆ กัน ได้นำเสนอประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่สำคัญภายใต้กรอบแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ แผนการปฏิรูปที่เป็นเรื่อง ๆ (Agenda base) แผนการพัฒนาเป็นพื้นที่ (Area base) และแผนการจัดกระบวนการเพื่อขับเคลื่อนสังคม (Social movement) ได้ 
 

นายอโนทัย กล่าวต่ออีกว่า ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ (1) เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) www.nesdb.go.th (2) เฟซบุ๊ก “ร่วมปฏิรูปประเทศ” (3) อีเมล Socialreform.opinion@gmail.com (4) โทรสาร หมายเลข 0 2282 9149 (5) จดหมาย 

ส่งมาที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ 10100 วงเล็บมุมซองว่า “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม” “ทุกความคิดเห็นของประชาชนมีคุณค่าอย่างยิ่งในการจัดทำแผนฯ ครั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมจะนำประเด็นที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนมาใช้ประกอบการจัดทำ (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมให้มีความครบถ้วน และสามารถเชื่อมโยงกับการปฏิรูปประเทศด้านอื่น ๆ โดยมีกำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิรูปประเทศให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 24 ธันวาคม 2560 ต่อไป” นายอโนทัย กล่าวในตอนท้าย