Update Newsสังคม

คปภ.ขันน็อต“ประกันชีวิต-วินาศภัย”ปฏิบัติตามกติกาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างเคร่งครัด

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคปภ.ได้ออกประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ.2559 และประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2559 เพื่อให้บริษัทมีระบบงานการจัดการสินไหมกระบวนการพิจารณาการชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัย 

และกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียนที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกัน มีประสิทธิภาพ สร้างความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกัน และทำให้จำนวนเรื่องร้องเรียนหรือข้อพิพาทด้านการประกันภัยลดลง  ส่งผลให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยมีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันภัย โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับ ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 และมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  (เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2559 ) เป็นต้นมา


จากข้อเท็จจริงในปัจจุบันพบว่า การปฏิบัติตามประกาศ คปภ. ฯ ทั้ง 2 ฉบับ บริษัทประกันภัยยังไม่มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นสำนักงาน คปภ.จึงได้จัดการประชุมชี้แจงการปฏิบัติตามประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนให้กับบริษัทประกันภัย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เพื่อให้บริษัทประกันภัยได้รับทราบแนวทางปฏิบัติและมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการดำเนินการตามประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับ ที่ถูกต้องตรงกันและปฏิบัติให้เป็นแนวทางเดียวกัน 

รวมทั้งเพื่อให้ทราบว่าประกาศทั้งสองฉบับมีบทลงโทษ โดยผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และถ้าเป็นกรณีการกระทำความผิดต่อเนื่อง ยังมีโทษปรับอีกไม่เกินวันละ 20,000บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอีกด้วย บริษัทประกันภัยจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้การจัดประชุมครั้งนี้ยังเป็นโอกาสที่จะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ระดมความคิดเห็น เพื่อให้เกิดแนวทางในการปฏิบัติร่วมกันในการจัดการเรื่องร้องเรียน การจัดการสินไหมหรือการชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัย เพื่อให้บริษัทมีระบบงานที่ชัดเจน  เป็นธรรม  มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ตามที่ประกาศฯ กำหนด ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเชื่อมั่นในธุรกิจประกันภัย อันจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความก้าวหน้า มั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป

เลขาธิการคปภ.กล่าวด้วยว่า การจัดการสินไหมเพื่อผู้บริโภคในยุคดิจิทัลถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภค   ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการทำงานของสำนักงาน คปภ.ที่กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนการประกันภัยในยุคดิจิทัล โดยเน้นย้ำการดำเนินการจัดการสินไหมและการจัดการเรื่องร้องเรียนเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งควรที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ 

เช่น การยื่นเรื่องร้องเรียนผ่างทาง website (E-service) ระบบการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนระหว่างบริษัทประกันภัย (E-Recovery) การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ (E-claim) การนำเทคโนโลยีโดรน(Drone) มาใช้ในการวิเคราะห์ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอาคารที่เกิดวินาศภัย  

 อีกทั้งการใช้เทคโนโลยี Blockchain มาเป็นหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบการฉ้อฉลประกันภัยจะช่วยให้การบริหารจัดการเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้บริษัทประกันภัยควรมีการเผยแพร่ข้อยกเว้นที่จะไม่ให้ความคุ้มครองให้ชัดเจนเพื่อให้ลูกค้ารับทราบ ไม่ว่าจะบนเว็ปไซต์ของบริษัทในรูปของ FAQ หรือผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียอื่นๆ กระบวนการในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการมีฐานข้อมูลกลางเพื่อใช้ในการตรวจสอบก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ 

รวมถึงการใช้ระบบอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการประมวลผลเพื่อลดการใช้ดุลพินิจลง ซึ่งในประเทศมาเลเซีย หน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยได้กำหนดให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทน บริษัทประกันภัยจะต้องชำระผ่านช่องทางออนไลน์ตรงเข้าไปที่บัญชีของผู้เอาประกันภัยโดยตรงเท่านั้น 

เพื่อลดขั้นตอนในการดำเนินงานและไม่เปิดช่องให้มีคนกลางหรือแก็งค์เคลมเข้ามาแทรกแซง และบริษัทประกันภัยในประเทศมาเลเซียได้เริ่มนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ เพื่อให้การพิจารณาการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทำได้เร็วขึ้น ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้ก็จะตกแก่ผู้เอาประกันภัยอย่างแท้จริง