ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารผลการปฏิบัติงานของสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมเดอะริเวอร์รี บาย กะตะธานี จังหวัดเชียงราย
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การขับเคลื่อนงานส่งเสริมด้านประกันภัยภายใต้บริบทการประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัดในยุคดิจิทัล” โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า ภารกิจการส่งเสริมด้านประกันภัยเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของสำนักงาน คปภ. อันเนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประกันภัย ทำให้ขาดความมั่นใจในการทำประกันภัย ประกอบกับในอดีตที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจนำระบบประกันภัยมาใช้ในการบริหารความเสี่ยงให้กับตัวเองและครอบครัว
กระทั่งเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความหลากหลายในการนำเสนอข้อมูลและการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางสื่อต่างๆ จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมประกันภัยที่สามารถเข้าถึงประชาชนหรือกลุ่มเป้าหมายได้อย่างง่ายดาย ในขณะเดียวกันประชาชนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านประกันภัยได้อย่างเจาะลึกในทุกมิติด้วยเช่นกัน
ในการขับเคลื่อนงานด้านส่งเสริมประกันภัยในส่วนภูมิภาคภายใต้บริบทการประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด จำเป็นต้องปรับยุทธวิถีเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล และการประชาสัมพันธ์ จึงไม่ใช่เพียงแค่การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท่านั้น แต่จะต้องเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านเนื้องานที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การลงพื้นที่ผ่านโครงการประกันภัยข้าวนาปี โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน
การลงพื้นที่ตรวจธนาคารพาณิชย์ การรณรงค์ส่งเสริมความรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านการประกันภัย พ.ร.บ. ใน 9 ภูมิภาคทั่วประเทศ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างกรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่อุ่นใจด้วยประกันภัย 7 บาท (ไมโครอินชัวรันส์) และกรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่อุ่นใจด้วยประกันภัย 10 บาทพลัส (ไมโครอินชัวรันส์) ตลอดจนการออกนโยบายต่างๆ ที่มีผลต่อภาคประชาชน
อย่างกรณีล่าสุดกับการจัดระเบียบการจ่ายค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมที่มีการเผยแพร่ สู่สาธารณชนเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นการสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กร แม้แต่การให้บริการประชาชนของเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. การจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านประกันภัยต่างๆ ก็ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กรด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การขับเคลื่อนงานส่งเสริมด้านประกันภัยในส่วนภูมิภาคจะต้องทำงานประชาสัมพันธ์เชิงรุกแบบมืออาชีพ เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัด ควรสร้างภาพลักษณ์ให้น่าเชื่อถือด้วยการดำรงตนเป็นกลางไม่เอนเอียง ไปข้างใดข้างหนึ่งระหว่างบริษัทผู้รับประกันภัยกับประชาชนผู้เอาประกันภัย
ซึ่งจะทำให้เป็นที่ยอมรับและสร้างความรู้สึกที่ดีแก่ทุกฝ่าย ด้วยการสร้างความเข้าใจ ทัศนคติที่ดี จะนำไปสู่การสนับสนุนความร่วมมือและสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสำนักงาน คปภ.ภาค สำนักงาน คปภ.จังหวัด กับประชาชนและบริษัทผู้รับประกันภัยอีกด้วย ซึ่งการทำงานด้านการส่งเสริมประกันภัยและการประชาสัมพันธ์จะต้องมีความพร้อมในด้านข้อมูลที่จะสื่อสารออกไปต้องมีความถูกต้อง รวดเร็ว และต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกองค์กร เพื่อให้เป็นเอกภาพในการทำงาน การแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการทำงาน
ที่สำคัญคือความร่วมมือกันระหว่างสำนักงาน คปภ.ภาคกับสำนักงาน คปภ.จังหวัด จะต้องเป็นไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน โดยมีการพัฒนาบุคลากรในภูมิภาคให้มีความสามารถทำงานเชิงรุกในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ในปี 2562 สำนักงาน คปภ. จะขับเคลื่อนการประกันภัยรถผ่านแดนอย่างจริงจังในทุกมิติ โดยจะมีการแต่งตั้งบุคลากรของสำนักงาน คปภ. เพื่อติดตามและขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยตรง นอกจากนี้จะมีการผลักดันให้มีการพัฒนาประกันภัยรถผ่านแดน จากเดิมที่ใช้บัตรบลูการ์ดเป็นบัตรบลูการ์ดดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการด้านประกันภัยให้กับรถผ่านแดนในกลุ่ม ประเทศอาเซียน รวมทั้งสำนักงาน คปภ. จะเป็นแกนนำจัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (workshop) กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรวมกันถอดสลักประเด็นปัญหา อุปสรรค ตลอดจนการวางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการประกันภัยรถผ่านแดน ควบคู่ไปกับการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 ในปี 2562 ที่จังหวัดเชียงราย
โดยสำนักงาน คปภ.ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเตรียมการจัดประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 ให้จัดทำแผนงาน ASEAN micro insurance product เพื่อนำเสนอในเวทีนี้ด้วย ซึ่งแผนงานดังกล่าวเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาตรฐาน สำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองเดียวกันและเบี้ยประกันภัยเท่ากัน สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ทุกที่ในภูมิภาคอาเซียน
รวมทั้งพัฒนาช่องทางการเสนอขายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกและทั่วถึง ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดในภูมิภาคอาเซียน โดยจะเริ่มต้นจากกรมธรรม์ประกันภัยไมโครอินชัวรันส์อุบัติเหตุ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีราคาถูก ความคุ้มครองไม่ซับซ้อน การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไม่ยุ่งยาก
“ดังนั้น ในปี 2562 สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด จะมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการทำประกันภัยในทุกมิติ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีจุดผ่านแดนถาวรระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เชียงราย น่าน เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ศรีษะเกษ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด ตาก กาญจนบุรี ระนอง สตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส ซึ่งจะทำให้กรมธรรม์ประกันภัยทั้งแบบที่กฎหมายบังคับให้ทำและแบบสมัครใจ สามารถเข้าไปบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ การค้า การท่องเที่ยว การขนส่งผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศ CLMV อีกด้วย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
Post Views: 52